Lilium วงอัลเทอร์เนทีฟสามชิ้น ที่หยิบดนตรีพื้นบ้านไต้หวันมาผสมกับแนวดนตรีอันหลากหลาย เพื่อยกระดับซีน

Lilium วงอัลเทอร์เนทีฟสามชิ้น ที่หยิบดนตรีพื้นบ้านไต้หวันมาผสมกับแนวดนตรีอันหลากหลาย เพื่อยกระดับซีน

ในวงการดนตรีไต้หวันที่เบ่งบานไปด้วยความสร้างสรรค์ และเม็ดเงินที่พร้อมจะอัดฉีดลงไปได้ทั่วถึงทั้งซีน ทำให้ศิลปินได้เติบโตในแบบของตัวเอง และเกิดแนวดนตรีใหม่ ๆ มากมายขึ้นมา หนึ่งในแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมสุด ๆ นั่นคือการหยิบดนตรีพื้นบ้านของไต้หวันมาผสมผสานกับแนวเพลงร่วมสมัยต่าง ๆ

百合花 Lilium

หนึ่งในวงที่น่าจับตามองสุด ๆ ตอนนี้อย่าง Lilium วงอัลเทอร์เนทีฟสามชิ้นที่หยิบดนตรี Beiguan music (ดนตรีเป่ยกวน) ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านหลายชิ้นมาใส่ในสำเนียงร็อกของวงได้อย่างลงตัว ซึ่งพวกเขาแค่ต้องการต่อยอดศิลปะที่ถูกลืม ให้กลับมาโลดแล่นอยู่บนซีนดนตรีอีกครั้ง

และสิ่งที่ทำให้วงนี้โดดเด่นกว่าใคร เพราะวงในยุคนี้หลายคนเลือกที่จะทำเพลงภาษาอังกฤษเพื่อต่อยอดโอกาส ได้ไปยืนอยู่บนเวทีในต่างประเทศมากกว่า แต่ Lilium กลับเลือกที่จะทำเพลงภาษาจีนฮกเกี้ยนแทน

หลังจากฟอร์มวงขึ้นมาในปี 2011 สมาชิกทั้งสองคนอย่าง I-Shuo (ไอ่โช่ว) ร้องนำและ Wei-zuo (เว่ยซัว) มือเบส ได้ปล่อยเดโมขึ้นบนยูทูบ และโชคดีจริง ๆ ที่เขาเป็นศิลปินได้ถูกประเทศ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐทำให้ทั้งสองได้ปล่อยอัลบั้มแรกอย่าง ‘Burnana’ ออกมาเพื่อยืนยัยความสามารถของทั้งคู่ ก่อนจะได้ I-Hsin (อ้ายชิง) เข้ามาร่วมวงในฐานะมือกลองด้วย

百合花 Lilium – Road to… Cover

และปี 2019 วงก็ได้ปล่อยอัลบั้มที่สองออกมาในชื่อ ‘Road to…’ ซึ่งสร้างปรากฎการณ์อันน่าทึ่งร่วมถึงแรงกระเพือมไปทั่วไต้หวัน การันตีด้วยรางวัลจากงาน 33rd Golden Melody Awards งานแจกรางวัลคนในวงการดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไต้หวันถึง 2 รางวัล คือรางวัลอัลบั้มภาษาไต้หวันยอดเยี่ยม “Best Taiwanese Album Award” และรางวัลออกแบบอัลบั้มยอดเยี่ยม “Best Album Design Award”

I-Shuo เล่าในบทสัมภาษณ์ว่า มีเพื่อนที่บอกเขาคืนก่อนวันงานว่าอัลบั้มนี้คงไม่ได้เข้าชิงหรอก แต่เมื่อชื่อวง Lilium ของพวกเขาถูกประกาศบนเวที I-Shuo พูดบนเวทีว่า “เพราะพวกคุณยังไม่รู้จักพวกเรา นี่คือเหตุผลที่เราต้องขึ้นมาบนเวทีให้ได้”

ถ้าใครได้ลองฟัง ‘Road to…’ จะต้องตกหลุมรักการปฎิวัติทางดนตรีของพวกเขา ที่หยิบแนวดนตรีที่แตกต่างกันมาก ๆ มาชนกันจนเกิดเป็นปฎิกิริยาทางดนตรีที่น่าตื่นเต้น พวกเขาหยิบดนตรี Bossa Nova, Synthwave และ disco-funk มาผสมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านไต้หวัน โดยเฉพาะเพลง See Through ในอัลบั้มที่ประกอบด้วยสามแนวดนตรีในเพลงเดียว แล้วเรียบเรียงได้โคตรดี

ไม่ใช่แค่เพลงเท่านั้น แต่พวกเขายังทำโชว์ได้น่าตื่นเต้นทุกครั้ง แม้สมาชิกจะมี 3 คน แต่ทุกโชว์พวกเขาจะเพิ่มเครื่องดนตรีอื่น ๆ และนักดนตรีเข้ามาในวง ทั้งกีตาร์ไฟฟ้า ซินธ์ ฟลูต เพื่อสร้าง vibes ใหม่ ๆ ให้กับโชว์ของพวกเขาจากการต้องเรียบเรียงดนตรีทั้งหมดใหม่ด้วย “มันคงน่าเบื่อพิลึก ถ้าเราจะเล่าเรื่องต่าง ๆ เหมือนเดิมทุกครั้ง” พวกเขาไม่กลัวเลยที่จะทดลองความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในดนตรีของตัวเอง

ไม่แปลกใจที่วงก็ฉายสิ่งนี้ให้เราเห็นมาตลอดในอัลบั้มที่สองของวง ในอัลบั้มแรกพวกเขาตั้งโจทย์ไว้หลวม ๆ ว่า “ต้องย่อยง่ายสำหรับทุกคน” แต่ผลลัพย์ของมันก็ไม่ได้ดีอย่างที่พวกเขาคาดไว้ ในอัลบั้มที่สอง พวกเขาจึงอยากทำให้แฟนเพลงประหลาดใจ ไม่ว่ายังไงเขาจะต้องทำลายกรอบดนตรีเดิม ๆ ของตัวเองลงให้แหลกละเอียด

แม้หลังจากที่วงได้รางวัลก็ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ Lilium ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำวงเพื่อชื่อเสียงใด ๆ และพวกเขายังอยากเป็นตัวของตัวเองเหมือนเดิม ก้าวต่อไปของวง ก็คือการยกระดับดนตรีดั่งเดิมของไต้หวันให้ไปสู่สิ่งใหม่ ๆ

ติดตามข่าวสารของพวกเขาได้ที่
https://www.facebook.com/taiwanflower/
https://www.instagram.com/liliumtaiwan/

อ้างอิง https://taiwanbeats.tw/unmute/lilium/

百合花 Lilium

รู้จัก Mong Tong ดูโอ้ไซเคเดลิกจากไต้หวัน ที่หยิบจับเรื่องราวลี้ลับมาสร้างซาวด์ทดลองอันน่าพิศวง

ขณะนี้คุณกำลังฟัง ‘9m88 Radio’ อัลบั้มล่าสุดจากศิลปินป๊อป r&b มากเสน่ห์จากประเทศไต้หวัน