กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ กาแล็กซี่อันไกลโพ้น … 4 พฤษภาคมก็วนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งแฟน ๆ หนัง Star Wars ยกให้วันนี้เป็นวัน Star Wars Day เพราะมันพ้องเสียงกับประโยคติดปากของเหล่าเจไดว่า “May the force be with you” เลยยกให้วันนี้ (May 4th) เป็นวันสำคัญของหนังไป จากมุกติดตลกของ Margaret Thatcher กลายมาเป็นการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ของ Disneyland อย่างเป็นทางการ
วันนี้ COSMOS Theory อยากมาระเบิดความติ่งเล็กน้อยถึง ‘The Imperial March’ ว่าทำไมมันถึงเป็นสกอร์หนังที่อยู่ในใจทุกคนตลอดกาล
ถ้าเพลงธีมของหนังเรื่อง Jaw อธิบายถึงอันตรายที่ค่อย ๆ คุกคามเราอย่างช้า ๆ ความน่ากลัวที่คาดเดาไม่ได้ซึ่งซุกซ่อนอยู่ใต้น้ำรอที่จะจู่โจมเราอย่างไม่ทันตั้งแต่ ‘The Imperial March’ หรือที่ทุกคนรู้กันว่าคือเพลงประจำตัวของ Darth Vader (อ่านว่า ‘ดาร์ธเวเดอร์’ ไม่ใช่ ‘ดาร์กเวเดอร์’) คือเพลงที่สรรเสริญความชั่วร้ายอันยิ่งใหญ่รุ่งโรจน์ที่พร้อมจะบดขยี้ทุกสิ่งที่ขว้างหน้า
ความน่าสะพรึงอันน่าจดจำของมันทำให้เพลงนี้กลายเป็นไอคอนิกของหนังไปโดยปริยาย แถมยังถูกยกย่องว่าเป็นสกอร์หนังที่ดีที่สุดตลอดกาล จนกลายเป็นป๊อป Pop Culture ของโลกที่ถูกหยิบไปใช้ในสนามกีฬา ใช้ในการเปิดตัวนักมวยปล้ำ กระตุ้นแฟนเพลงในคอนเสิร์ต จนไปถึงถูกใช้ในโฆษณาชวนเชื้อของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณความอัจฉริยะของนักประพันธ์เพลงระดับตำนานอย่าง John Williams
Star Wars ไตรภาคแรกของ George Lucas (ภาค 3-5) อยากได้ความ classical สำหรับสงครามอวกาศของเขาให้มีความลุ่มลึก หลากหลาย ตึงเครียด และยากจะลืมเลือนได้ และ John Williams ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมากจนทุกคนต้องยอมรับ ว่าเซ็ตติ้งของการเป็น ‘Space Opera’ ในหนังเรื่องนี้จะสมบูรณ์แบบไม่ได้ถ้าขาดซาวด์แทร็กที่เป็นอมตะของเขาไป
Williams เลือกใช้วงซิมโฟนีออร์เคสตราเกือบ 100 ชีวิตซึ่งเป็นที่นิยมในยุคการทำเพลงประกอบหนังยุคนั้น เพื่อให้ได้เสียงที่เต็มอิ่ม หนักแน่น มีเท็กเจอร์ของเสียงที่นุ่มลึก และความดราม่าที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก Richard Wagner ในยุคโรแมนติกโอเปร่า
‘The Imperial March’ นั่นอาจจะเรียบง่ายสำหรับคนฟัง ทั้งตรงไปตรงมาและท่อนฮุกที่ตอกย้ำซ้ำ ๆ ถึงจังหวะการก้าวเท้าแบบพวกฟานซิสต์ที่ทรงพลัง ตัดกับโน็ตตัวหนา ทั้งรายละเอียดของเครื่องสายกับเครื่องเป่าลมไม้ และ syncopation ที่เข้มข้นของจังหวะยาว-สั้น,สั้น-ยาวในเมโลดี้ที่กลายเป็นจังหวะที่น่าจดจำ
ในภาค The Empire Strikes Back ที่เพลงนี้ถูกใช้ภาคแรก แฟนเดนตายของหนังเรื่องนี้ก็ตั้งใจนับว่าใช้เพลงนี้ในหนังไปแล้วถึง 35 ครั้งเลยทีเดียว
อีกเทคนิกที่ทำให้ซาวด์แทร็กหนังเรื่องนี้ติดอยู่ในใจทุกคนคือ leitmotif ซึ่งเป็นเทคนิกเฉพาะตัวของ Richard Wagner ด้วย ที่ใช้จังหวะดนตรีสอดประสานเข้ากับการกระทำบนภาพ สร้างเอกลักษณ์ให้ตัวละครทุกตัวหรือบรรยากาศในซีนต่าง ๆ ด้วยเครื่องดนตรีที่มีเสียงแตกต่างกัน นอกจาก ‘The Imperial March’ ที่สร้างความน่าหวาดกลัวต่อตัว Darth Vader ได้เห็นภาพแล้ว ‘Princess Leia’s Theme’ กลับมีดนตรีที่งดงามน่าฟัง โดดเด่นด้วยความหวังผ่านเครื่องสาย กับชะตากรรมที่บีบคั่นถูกสื่อสารด้วยเครื่องเป่าทองเหลือง ส่วน ‘Yoda’s Theme’ ก็เรียบง่าย
และอีกเหตุผลหนึ่งที่ ‘The Imperial March’ ยังติดอยู่ในใจเราตลอดเวลา เพราะเพลงนี้ยังถูกแอบสอดใส่ไว้ในฉากสำคัญ ๆ อีกหลายครั้ง ทั้งฉากที่ Vador กำลังสิ้นใจในภาค Return of the Jedi เพลงถูกปรับให้นุ่มนวลขึ้นผ่านเสียงพิณระหว่างพ่อลูกกับร่ำลากัน หรือใน The Phantom Menace ที่มันถูกบิดโน๊ตให้น่าพิศวง สร้างลางสังหรณ์แปลก ๆ ได้อย่างคมคายภายใต้ความไร้เดียงสาของอนาคินใน “Anakin’s Theme”
และไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่หลาย ๆ เพลงในหนังเรื่องนี้ล้วนมีโน๊ตสามตัวแรกที่คล้ายกับ ‘The Imperial March’ เพื่ออธิบายผลกระทบและอิทธิพลที่ Vador มีต่อแกแลคซี่ในหนังเรื่องนี้ ในไตรภาคล่าสุด (ภาค 7-9) เพลงธีมของตัวละครหลายตัวถูก re-arrange ใหม่หมด จากการเติบโตขึ้นของตัวละครต่าง ๆ มีเพียงแค่เพลงนี้เท่านั้นที่ Williams ไม่ทำอะไรกับมัน และยังถูกหยิบมาใช้ในหนังทั้ง 3 ภาคสุดท้ายอีกครั้ง เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์ที่บิดเบี้ยวของเขาต่อไป
ในปัจจุบัน ‘The Imperial March’ ก็ไม่ได้เป็นแค่สกอร์หนังที่ดีที่สุด แต่มันยังกลายเป็น Memes ที่มีความเข้าใจร่วมกันจากทั่วทั้งโลก นอกจากจะถูกคนดังนำไปใช้ในพิธีการต่าง ๆ ก็ยังมีแฟนเดนตายหยิบเพลงนี้มาทำใหม่ในแนวดนตรีต่าง ๆ เช่นวง Galactic Empire ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนัง ก็ยังหยิบเพลงนี้มาทำเป็นแนวเมทัลได้เดือดดาลแปลกหู ต่ออายุให้กับเพลงนี้ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุดจนได้แฟนเพลงหน้าใหม่ ๆ เรื่อย ๆ ช่วยตอกย้ำว่า ถ้าเพลงดี ยังไงมันก็จะอยู่ในโลกนี้ตลอดไป