The National จัด listening party ให้แฟนเพลงได้ฟังอัลบั้มใหม่ ‘First Two Pages of Frankenstein’ พร้อมกันทั่วโลก สำหรับที่ประเทศไทย งานจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายนที่ร้าน CD Cosmos มีแฟนเพลงและสื่อมวลชนมาร่วมงานอย่างครึกครื้น พร้อมดีเจฤทธิ์ Cat Radio และเพจเสพย์สากลชวนพูดคุยถึงไฮไลต์อัลบั้ม ร่วมด้วยโชว์จาก Wicked Lights ที่หยิบเพลงของวงมาคัฟเวอร์ ทำให้บรรยากาศในวันนั้นเป็นเหมือนงานแฟนมีตอันแสนอบอุ่นเป็นกันเอง
การกลับมาอีกครั้งของ The National ในสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 9 ในชื่อว่า ‘First Two Pages of Frankenstein’ กับปริศนาอาร์ตเวิร์กที่เป็นรูปเด็กชายถือหัวหุ่นแปะป้ายชื่อว่า ‘Paul’ ใช้ในทุก ๆ ซิงเกิ้ล ทำให้แฟนเพลงตั้งข้อสงสัยกันว่าวงอินดี้ร็อก/โพสต์พังก์ จากซินซิเนติ โอไฮโอ จะทำอะไรสนุก ๆ ที่คาดเดาไม่ได้อีกบ้างในชุดนี้ และเมื่อวันที่ 28 เมษายน แฟนทั่วโลกก็ได้ฟังอัลบั้มแบบเต็ม ๆ บนสตรีมมิง เนื้อหาของเพลงยังเข้มข้นเหมือนเคย แต่กลิ่นอายดนตรีจะมีความอ่อนโยนและป๊อปขึ้นมาบ้าง รวมถึงได้ศิลปินชั้นนำทั้ง Sufjan Steven, Taylor Swift และ Phoebe Bridgers ที่พวกเขาเคยร่วมงานด้วย มาเติมสีสันและทำให้อัลบั้มชุดนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เมื่อสื่อและผู้เข้างานลงทะเบียนกันเป็นจำนวนหนึ่ง พร้อมได้รับโปสเตอร์และสติ๊กเกอร์ที่ระลึกกันไปแล้ว ช่วง talk ก็เริ่มขึ้นประมาณเวลา 17.30 น. นำโดยคุณเมย์ Country Head จาก Beggars Group Thailand ร่วมด้วยคุณกล้าม จาก เสพย์สากล รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ กล่าวเปิดงานพร้อมชวนดีเจฤทธิ์—วราฤทธิ์ มังคลานนท์ มาบอกเล่าความรู้สึกและความประทับใจในฐานะแฟนเพลงของ The National ตั้งแต่ชุดก่อน ๆ ซึ่งแต่ละคนก็เล่าว่าได้รู้จักกับวงจากคนละที่กันทั้งสิ้น อย่างดีเจฤทธิ์รู้จักจากร้าน Cosmic RCA ในยุคที่เพลงโพสต์พังก์กำลังได้รับความนิยม คุณเมย์รู้จักจากชุด ‘Allegator’ สมัยที่เป็นดีเจทางวิทยุออนไลน์ YeSindie ในขณะที่คุณกล้ามรู้จักการที่เพลงถูกใช้ประกอบในภาพยนตร์ ‘Warrior’ ส่วนเราเองก็น่าจะบังเอิญเจอตาม YouTube suggestions ช่วงอัลบั้ม ‘High Violet’ แล้วเกิดติดใจกลับไปไล่ฟังตั้งแต่ EP ‘Cherry Tree’ และไปดูพวกเขาเล่นสดตามแต่โอกาสจะเกื้อหนุน
หลังจากแต่ละคนเล่าความประทับใจที่มีต่อวงกันแล้ว ก็มีการแชร์เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวงที่ชอบซ่อนคำใบ้หรืออะไรบางอย่าง ให้คนฟังต้องตีความผ่านเนื้อเพลงที่ไม่ได้ถูกเขียนความหมายออกมาอย่างโจ่งแจ้งนัก อย่างเช่นเพลง ‘Don’t Swallow the Cap’ จากอัลบั้ม ‘Trouble Will Find Me’ ที่คนฟังต่างเดากันไปว่า Matt Berninger ฟรอนต์แมน ได้แรงบันดาลใจจากลูกชายที่ยังเล็กของเขา ณ ตอนนั้นว่ากลัวจะเผลอกลืนฝาขวดน้ำติดคอ หรือมาจากข่าวการตายของนักเขียน Tennessee Williams ที่แพทย์ชันสูตรพบฝาขวดน้ำอยู่ที่หลอดลมของเขาก็ไม่ทราบได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันใน reddit อยู่เสมอ ชุด ‘Sleep Well Beast’ ก็มีงานกราฟิกดีไซน์ outline รูปบ้านสีน้ำเงินมินิมัลโดดเด่น ซึ่งวงก็ได้ร่วมทำเบียร์ชื่อ ‘Reality Based Pils’ กับโรงเบียร์ Mikkeller (ตอนนั้นมีงานเปิดตัวที่ Mikkeller สาขาอารีย์ด้วย) ในอัลบั้ม ‘I Am Easy to Find’ เองก็น่าสนใจไม่แพ้กันเมื่อวงเลือกร่วมงานกับผู้กำกับหนังดราม่าอบอุ่นหัวใจหลายเรื่องอย่าง Mike Mills (C’mon C’mon, 20th Century Women, Beginners) โดยได้ Alicia Vikander มาแสดงในมิวสิกวิดิโอความหมายลึกซึ้ง
สำหรับอัลบั้มนี้เอง แฟนเพลงก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับชื่ออัลบั้ม และปกอัลบั้มเด็กถือหุ่นชื่อพอล ซึ่งคุณเมย์ก็เล่าว่า John Solimine ผู้เป็นนักวาดภาพประกอบและเพื่อนของแมต ถ่ายภาพเด็กชายชื่อพอล ซึ่งเป็นลูกชายของเขาเอง แมตเกิดชอบขึ้นมาและขอนำไปใช้เป็นปกอัลบั้ม ไม่ได้มีความหมายอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น ส่วนชื่ออัลบั้มคุณกล้ามเล่าว่ามาจากการอันล็อกภาวะ writer’s block ของแมตเองที่ช่วงโควิดเขาไม่สามารถเขียนอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ จนกระทั่งได้ไปอ่านบทประพันธ์คลาสสิกเรื่องแฟรงเกนสไตน์ ในสองหน้าแรกมีภาพประกอบที่ให้ความรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว ซึ่งสามารถบรรยายสถานการณ์ทางอารมณ์ของเขาได้อย่างหมดจด นั่นจึงทำให้เขารู้สึกไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวและปลดล็อกอาการตันดังกล่าวได้ กลายมาเป็นผลงาน 11 เพลงในอัลบั้มชุดนี้
จากนั้นคุณเมย์ก็นำเข้าสู่ช่วงแนะนำไฮไลต์แทร็กของอัลบั้มนี้กัน ซึ่งได้แก่เพลง ‘Tropic Morning News’ ซิงเกิ้ลโปรโมตเพลงแรกที่พูดถึงบทสนทนาของเขากับภรรยา เกี่ยวกับความน่าเบื่อหน่ายของข่าวเช้าที่มักเปิดมาด้วยเรื่องหดหู่
แทร็กต่อมาก็เป็นอีกเพลงที่สร้างความฮือฮา เมื่อ merchandise โปรโมตเพลง ‘New Order T-Shirt’ ของวง ก็ทำออกมาเป็นเสื้อวง New Order จริง ๆ แต่มันพิเศษที่มีชื่อวง The National บนนั้นด้วย เป็นโอกาสที่หาได้ยากเพราะไม่ได้มีทุกวงที่จะทัวร์ด้วยกันและมีชื่อร่วมกันบน merch ที่ทำเองเสมอไป ความพิเศษคือรายได้จากการขายเสื้อจะถูกนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศล ส่วนมิวสิกวิดิโอก็ถูกเผยว่าถ่ายทำไม่ทัน เลยต้องทำเป็นสไลด์ visualizer แทน โดยผลงานภาพถ่ายเป็นของ Tom Berninger น้องชายของแมตที่บันทึกภาพนิ่งจากการแสดงสดที่ผ่าน ๆ มา
เพลง ‘Eucalyptus’ เนื้อหาพูดถึงคู่รักที่เลิกรากันไปแล้ว แต่ยังทิ้งของดูต่างหน้าเอาไว้ทำให้มันมีความรู้สึกเก่า ๆ ตีขึ้นมาเป็น flashback เป็นพัก ๆ อย่างกรณีเพลงนี้ก็คือต้นยูคาลิปตัสที่เรายังต้องคอยรดน้ำดูแลมันนั่นแหละ
ต่อไปคือเพลง ‘Your Mind Is Not Your Friend’ ที่ร่วมงานกับ Phoebe Bridgers ซึ่งต่างคนต่างร่วมงานด้วยกันอยู่ตลอด ๆ ชื่อเพลงนี้ถูกยกมาจากคำพูดของภรรยาของแมตที่ให้กำลังใจในการใช้ชีวิต ส่วนมิวสิกวิดิโอก็เป็นการร่วมงานกันของสองครอบครัว เพราะทอม น้องชายของแมตมาแสดง และผู้กำกับคือ Jackson Bridgers น้องชายของฟีบีนั่นเอง
ปิดท้ายด้วยเพลง ‘The Alcott’ ที่ร่วมงานกับ Taylor Swift ด้วยก่อนหน้านี้พี่น้อง Dessner ก็ไปทำเพลงให้เธออยู่หลายครั้ง งานนี้เทย์เลอร์ก็โชว์ฝีมือการเขียนเพลงอันเฉียบคมโดยเสร็จสิ้นภายใน 20 นาทีเท่านั้น
ส่วนซิงเกิ้ล ‘Weird Goodbyes’ ที่พวกเขาร่วมงานกับ Bon Iver ที่ก่อนหน้านี้หลายคนคิดว่าเพลงจะถูกบรรจุในอัลบั้ม ก็ไม่ได้มารวมในที่สุดเพราะมู้ดโทนไม่ได้เข้ากับเพลงโดยรวมในอัลบั้มสักเท่าไหร่
จบจากช่วงทอล์ก ทีมงานก็เปิดเพลงทั้งอัลบั้ม ‘First Two Pages of Frankenstein’ ให้ทุกคนได้ฟังกันแกล้มเบียร์สดเย็นชื่นใจ หรือก็เป็นโอกาสที่ดีหากใครจะไปทำความรู้จักกันกับแฟนเพลงคนอื่น ๆ ก่อนที่ประมาณทุ่มตรง วง Wicked Lights จะมาสแตนบายพร้อมเล่นเพลงของพวกเขาให้เราฟัง นี่เป็นครั้งที่สองที่เราได้รับชมวงนี้สด ๆ ความน่าสนใจคือวงสามารถทำเพลงอัลเทอร์เนทิฟ โฟล์กร็อกออกมาได้น่าฟัง เสียงทุ้มกังวาน กับพลังงานพุ่งพล่านทุกครั้งที่แสดงสด กับความเนี้ยบกริบที่ได้ฟังในทุกครั้ง วันนี้เขาเล่นทั้งเพลงที่ปล่อยมาแล้วในอัลบั้ม ‘Brave Face’ อย่าง ‘Bearings’, ‘On the Rocks’, ‘Kushty’, ‘Lovewilltearusapart’, ‘Fools’, ‘Edin’ และเพลงที่กำลังจะปล่อยในงานชุดต่อไปที่น่าจะออกมาให้ได้ฟังไม่เกินปีนี้ ทั้ง ‘What Do We Get’, ‘Have A Nice Dream’, และคัฟเวอร์เพลง ‘Santa Clara’ ของ The National ได้เท่มาก ๆ
ขอขอบคุณ Beggars Group Thailand ที่ทำให้เกิดงานดี ๆ exclusive แบบนี้ขึ้นที่ประเทศไทย และ CD Cosmos เองในเร็ว ๆ นี้ก็น่าจะมีกิจกรรมสนุก ๆ อีกมากมายเกิดขึ้น ติดตามทั้งสองชื่อนี้เอาไว้ดี ๆ ส่วนตอนนี้ก็ไปฟังอัลบั้มเต็ม ‘First Two Pages of Frankenstein’ ของ The National กันดีกว่า