คลับซีนกรุงเทพคึกคักขึ้นมาก ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะเราเริ่มเห็นปาร์ตี้มากขึ้นโดยมีแนวดนตรีมากมายเป็นตัวเลือกให้ได้ไปลองฟังหรือเต้น รวมถึงเพื่อน ๆ เราหลายคนเริ่มไปเป็นดีเจกันเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่สำหรับ PRIDE Month แบบนี้ เราขอชวน Mae Happyair หรือ เม ตัวตั้งตัวตี artist collective และปาร์ตี้ Non Non Non ที่ขึ้นชื่อว่าเน้นเพลงเร็ว เพลงหนัก และยังเป็น queer friendly สนับสนุนคอมมิวนิตี LGBTQ+ มาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งตอนนี้เธอเองก็มีโปรเจกต์มากมายล้นมือ โดยหวังว่าจะมีพื้นที่สำหรับทุกคนได้มาร่วมสนุกกันและทำให้แดนซ์ฟลอร์ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
Mae Happyair คือใคร เริ่มดีเจตั้งแต่เมื่อไหร่
เมื่อก่อนพี่เมก็เป็นเด็กธรรมดาคนนึงเนี่ยแหละค่ะ ย้ายมหาลัยบ่อยมาก สี่ครั้ง พี่มีความรู้สึกว่าโหยหาอิสรภาพมาตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่กับพ่อแม่ พี่ติดมหาลัยที่อีสาน คือสมัยนั้นต่างจังหวัดไม่ได้มีอะไรที่เราอยากทำ พี่เลยคิดว่าถ้าชั้นจะได้มีอิสระตอนเข้ามหาลัยปี 1 ชั้นควรจะได้อยู่ในที่ที่ดีกว่านี้ ก็เลยเอาคะแนนมาลงใหม่ที่กรุงเทพ ได้เข้ามหาลัยเกษตรศาสตร์ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ทำอะไรแล้วทำให้มันสุด ตอนเรียนวิทยาศาสตร์เราก็เต็มที่กับมันจริงๆ เกือบจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ละ เราอยากทำอะไรหลายอย่างมาก เหมือนใจมันพาไป แล้วสุดท้ายเราก็หยุดเรียน พ่อแม่โกรธมาก พอออกมาเราก็เริ่มมาหยิบจับนั่นนี่ เรามีทักษะศิลปะอยู่บ้าง เป็นคนชอบวาดรูป ชอบงานดีไซน์ ของสวยๆงามๆ เราก็เนียนไปช่วยเพื่อนจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยอื่น
ต่อมาก็เริ่มไปเที่ยว ก็เรียกว่าปาร์ตี้จนได้ดี ตอนนั้นไป Club Culture ก็ทำให้เราเริ่มรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ก็เลยโดนชวนให้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยหนังสือไฮแฟชันเจ้านึง ทำได้อยู่ 4-5 ปี ทำงานไปด้วย แล้วก็สมัครเข้าเรียนมหาลัยภาคพิเศษอีกครั้ง ได้เรียนมหาลัยศิลปะสมดั่งใจ พลังงานเยอะมากตอนนั้น ทำงาน เรียน เปิดเพลง ปั่นจักรยานไปเปิดเพลงด้วยตอนนั้น ชิดลม-ทองหล่อ
พอเรียนจบก็เริ่มเฟดออกจากงานแฟชันมาทำดนตรีจริงจัง ไม่รู้ออกมาได้ไง รู้ตัวอีกทีก็คือตื่นเช้านั่งคัดเพลง ซื้อเพลง ฝึกซ้อม กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของเราไปแล้ว
อะไรคือสิ่งที่ได้กลับมา
ออกจากงานประจำ (ซึ่งทำได้แป๊บเดียว) ทุกเช้าเราจะมาก่อนเกือบชั่วโมง เปิดเพลงฟัง ถามว่าทำไมกูอยู่ตรงนี้วะ ไม่มีพลังชีวิตเอาซะเลย เลยลาออกจากงาน ช่วงนั้นกำลังทดลงใช้ชีวิตแบบ minimalist ไปอ่านหนังสือเจอ (หัวเราะ) ขายของแบรนด์เนมที่มี เสื้อผ้าที่เคยใช้ตอนเป็นสไตลิสต์ ได้เงินก้อนนึง (ถือว่าเยอะมาก ขนาดขายของถูกๆนะ) แบ่งเงินที่ได้ย้ายอาพาร์ทเมนท์ใหม่ ได้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เงินอีกครึ่งเอาไปเที่ยว
พี่ไปเที่ยวยุโรป แล้วเจอคนประเภทเดียวกัน เหมือนไปเจอบ้านของตัวเอง เจอเพื่อนเกย์ลากไปคลับอันเดอร์กราวด์ เต้นเพลงเทคโน industrial ‘ใครบอกวะว่าเกย์ฟังแต่เพลงป๊อป’ จบทริปอัมสเตอดัมนั่งรถไฟไปต่อที่เบอร์ลิน ก็ฮอปไปทุกที่ไม่รู้วันรู้คืน ต่อคิวเข้า Berghain ก็ได้เข้าแบบฟลุ๊ก ๆ อยู่ในนั้นเดินไปเดินมา แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าไปเพื่อเอาอะไร คือลอยตามลมจริง เมาม้าก จนถึงเวลาต้องกลับ เหมือนโดนดีดให้ตื่น ไปขึ้นเครื่องกลับที่อัมสเตอดัมแล้วบอกตัวเองว่า ‘เฮ้ย ถ้ารักดนตรีมากขนาดนี้ ต้องดูแลตัวเองให้ดีนะ เพราะถ้าดูแลตัวเองไม่ดี งานเราก็ทำร้ายเราได้เหมือนกัน’ ตรงนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนให้เราต้องปรับตัวเอง
เรื่องรสนิยมเพลงมันไม่ได้สะท้อนเรามากเท่าไหร่ มันยังหาฟังได้ แต่มันไปได้ความคิดนี้มา
กลับมาตรงที่ว่ากลับมาได้ยังไง หลังจากกลับมามันจุดต่อจุด มันยิ่งทำให้เราอยากทำงาน เราอยากพรีเซนต์คุณภาพของดนตรีในคอมมูนิตี้เรา ใครยังชอบเพลงป๊อบก็ชอบไป เราคลั่งไคล้สิ่งนี้ เราก็อยากทำในแบบของเรา
แล้วเราก็ลุย NON NON NON ต่อ จริงๆทำไว้ งานสองงานจำไม่ได้ก่อนไปเที่ยว ไม่ได้วาดฝันอะไรไว้เท่าไหร่ ตอนนั้นมีกันอยู่สามคน กระจัดกระจายแยกย้ายกันไป ตอนนี้มีเราคนเดียว ซึ่งทำงานเหมือนเป็นทีม คิดอะไรได้ก็ทำเลย
ทำไมไม่หาคนมาช่วย
หนึ่ง ระหว่างที่พี่จะถ่ายทอดสิ่งที่พี่คิดซึ่งมัน abstract มากให้คนอื่นฟัง มันยากอ่ะ สอง กว่าเขาจะทำมันขึ้นมาให้พี่ ยากไปอีก พี่เคยเกือบจะมีผู้ช่วยคนนึง เขาเรียนจบมาอย่างดีเลยแหละ คุณสมบัติพร้อมทำงานมาก เด็กไฟแรง แต่ไฟเขามอดตั้งแต่วันแรกที่คุยกับพี่เลย (หัวเราะ) คือพี่คุยกับเขาไปเรื่อย ๆ อยากให้เคมีตรงกัน แล้วพี่พยายามจะบอกเขาว่า ลืมเรื่องเพอร์เฟกชันนิสต์ไป ขีดๆเขียนๆมาก่อน ค่อยมาดูกันว่าจะไปต่อแบบไหน
เนี่ยมันเลยยังต้องทำเองอยู่ เพราะพี่ฟุ้งพี่ก็ทำเลย สังเกตว่าทุกอย่างงานของพี่มันไม่ได้ซับซ้อน อาร์ตเวิร์กง่าย ๆ สื่อสารว่าเรากำลังทำอะไร
สุดท้ายก็ไม่มีผู้ช่วย แต่ก็ไม่เร่ง ให้เป็นพรหมลิขิต เดี๋ยววันนึงมันก็เข้ามาเอง เพราะตอนนี้พี่ก็ยังเอาอยู่ ยังไม่ร้องขอชีวิตเท่าไหร่ แต่ใกล้ละ (หัวเราะ)
Non Non Non คืออะไร
Non Non Non มันคือจิตใต้สำนึก มันคือตัวตนของพี่ พี่เป็นเด็กติดเกม The Sims, Contra พี่เคยเข้าโรงบาลเพราะเล่นเกมจนน็อกคาจอคอม ไม่กินข้าว ไม่หลับไม่นอน ชอบดูการ์ตูน เชื่อเรื่องเอเลี่ยน แล้วสิ่งเหล่านี้รวมๆมันก็พูดยาก (หัวเราะ) พอความคิดมันลอยเข้ามา เราถนัดที่จะสื่อออกมาเป็นวิชวล อย่างชื่องาน ‘Speed Queen’ ที่ผ่านมา คือวันนึงเดินเล่นกับแฟน แล้วก็ไปเห็นร้านขายเครื่องซักผ้ายี่ห้อ Speed Queen แค่นั้นแหละ ก็เลยแบบ เฮ้ย มึง เอา ชื่อนี้ใช่ มันเกย์มาก แม่งโคตรเป็นเรา อะไรไม่รู้ผ่านหูผ่านตามันกลายมาเป็นปาร์ตี้ได้หมด มันคือลมหายใจเข้าออกของเรา
คือเราหาเสาปักหลักที่จะตั้งเรื่องใดเรื่องนึงยาก วันนึง Non Non Non จะกลายเป็นอะไรไม่รู้ก็แล้วแต่มันไป เพราะพี่คิดว่าพี่ไม่อยากเป็นคนจัดปาร์ตี้ที่ปาร์ตี้ตายไปกับอายุ พี่อยากปล่อยให้มันไหล ๆ ไปตามโลกใบนี้ (หัวเราะ) พี่อาจจะแก่ขึ้น ความคิดแก่ขึ้น อาจจะมีคนรุ่นใหม่มาทำงานด้วย ก็อาจจะกลายเป็นอีกบริบทนึง ตอนนี้ก็ยังไม่รู้
ก่อนหน้านี้เราสร้างที่นี่ขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตดีเจเควียร์ จริง ๆ เราอยากปั้นดีเจเควียร์หน้าใหม่ขึ้นมา แต่มันน้อยมาก ถ้ามีเขาก็อาจจะไม่ได้จริงจังกับมันมาก
NON NON NON มันคือความสุขของเรา อยากจัดปาร์ตี้ที่มีแต่เพลงหนักๆเพลงเร็วๆ ซัก 7 ชั่วโมง มันเกิดแรงดึงดูดคนที่ชอบสิ่งเดียวกันมาเจอกัน เมื่อก่อนเวลาเปิดเพลงทุกวันก็ท้ออ่ะ อยากเป็นคนฟังบ้าง อยากเต้นเพลงมันๆโดยที่เราไม่ต้องเป็นคนเปิดบ้าง ตอนนี้ฝันเป็นจริง
ซึ่งก็คือ hard techno?
เหมือนสมัยเด็กเราหาเพลงฟัง มันก็ไม่ได้มี hard techno ให้ฟัง ตอนนั้นพี่เมชอบฟัง electroclash, darkwave, post punk, electronica ซาวด์มันวนๆอยู่ประมาณนี้ มันเป็นซาวด์ที่บ่งบอกถึงบุคลิคเรา จริง ๆ hard techno ซาวด์มันก็มีรากมาจากพวกนั้นแหละ พอบีตมันเริ่มหนักขึ้น BPM เร็วขึ้น ก็กลายมาเป็น hard techno ด้วยความที่มันฟังแล้วเอเนอร์จี้มันมา มันทำให้อะดรินาลีนเราพุ่งพล่าน
BPM เร็วสุดที่เคยเปิด
เอาจริงเลเวลที่พี่ชอบคือ 145-150 แต่พี่เคยเปิดไปถึง 170 เป็นเพราะว่าดีเจคนก่อนหน้าพี่มันไม่ลง พี่เลยต้องค่อย ๆ ดึงจาก 170-180 ไหลลงมาถึง 150 แต่พี่ต้องใช้เวลาพักนึงในการดึงลงมา แล้วพี่ก็มีความรู้สึกว่ามันไม่สามารถลงได้มากกว่านั้นแล้วเพราะคนมันเอาแล้ว ซึ่งมันก็ไม่ได้แย่ พอ BPM มันเปลี่ยนมันก็เกิดเป็นเพลงใหม่ แล้วคน Non Non Non ให้มากเท่าไหร่เขาก็สนุกไปกับเรา ชื่นใจ
คนส่วนใหญ่ที่มางานเป็นใคร
คนใน Non Non Non เป็นช่วงอายุที่กว้างมาก ตั้งแต่ 20 จนถึง 40 นิด ๆ แล้วก็พี่ชอบจัดปาร์ตี้ให้คนไม่รู้จักฟัง เพราะพี่มีความรู้สึกว่า คนรู้จักอะ ยังไงก็รักพี่ แต่ทำงานกับคนที่ไม่รู้จักมันชาเลนจ์ดี แล้วพอเขามาเพราะงานเรา คนที่ไม่รู้จักกันก็จะได้รู้จักกัน ทำให้คอมมิวนิตีมันใหญ่ขึ้น
ทำไมจัดงานเริ่มเร็ว
ตอนมี Non Non Non แรก ๆ มีน้องสองคน มันเกิดปัญหาที่ว่าทุกคนอยากเล่นพีคไทม์หมด แล้วคลับตอนนั้นคนมันก็เดินเข้าตอนสี่ทุ่มห้าทุ่ม แล้วตีสองก็ปิดแล้ว ฉะนั้นถ้าจะพีคไทม์ต้องเป็นเที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง ซึ่งมันตีกัน ก็ทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างทำให้แยกย้ายกันไป พี่ก็คิดอยู่ในใจมาตลอดว่าไม่รู้เราจะทำยังไงให้เราแก้ปัญหาตรงนี้ได้ แล้วเรารู้สึกแย่ รู้สึกผิดมาตลอดว่าเราเอาใครมาก่อนมาหลัง พี่มองว่าคนเล่นเร็วเก่งนะ ทุกคนเก่งหมด แต่เขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเก่งเพราะไม่ได้เล่นในเวลาที่ได้แสดงออกจริง ๆ
พอหลังจากโควิดผ่านไป ทุกอย่างกลับมาประจวบเหมาะกับว่าคนอยากปาร์ตี้ คนมันเอาด้วย แล้วเราก็มาเจอช่วงที่ปาร์ตี้เปิดได้ถึงเที่ยงคืน ดีเจที่อยากเปิดเพลงเร็วก็มีเยอะไปหมด เราเลยถือโอกาสเปิดให้ไวขึ้น ก็ให้ทุกคนใส่เลเวลเดียวกันตั้งแต่ทุ่มนึงไปเลย แล้วพี่มีความรู้สึกว่าเมื่อเขาเป็นดีเจ เมื่อเขาเตรียมเพลงดี ๆ มาเปิดแล้ว และในฐานะที่เราเป็นโปรโมเตอร์ เราก็ต้องบอกให้คนที่มางานเรามาเร็ว มันเป็นหน้าที่ของเราด้วยที่ต้องบอกให้คนรู้ว่าเราพรีเซนต์อะไรอยู่ มันก็เลยกลายเป็นปาร์ตี้ที่ไม่มีวอร์มอัป จะมาช้ามาเร็วเพลงกูก็เร็วอยู่ดี ก็มาเร็ว เต้นเร็ว กลับบ้านเร็ว ไปนอนแฮงก์วันอาทิตย์ มีเวลาตื่นไปทำงานวันจันทร์เฟรช ๆ
ที่จัด secret location ตั้งใจจะให้งานนี้เป็น safe space ของ LGBTQ+ ด้วยไหม
พี่ไม่ได้มีเป้าหมายจะสื่อว่าเราแยกออกมาเพื่อเป็น independent world สำหรับเควียร์ แต่พี่มองว่าสำหรับพี่พี่ได้ทุกอย่างแล้วใน music industry นี้ พี่เปิดโรงเรียนสอนดีเจ พี่ก็ควรให้สถานที่กับคนรุ่นใหม่ด้วย แล้วเวนิวที่มี sound quality ดี ๆ ก็มีไม่กี่ที่ พี่ก็อยากให้ที่ตรงนั้นเป็นของคนรุ่นใหม่ ได้เห็นน้อง ๆ รุ่นใหม่ได้เปิดเพลงในคลับดีๆเพราะสมัยเรามันไม่มี พอออกมาจัดข้างนอกมันก็ตื่นเต้นดีสำหรับเรา มันชาเลนจ์ว่าเขาจะตามกูไปปะวะ (หัวเราะ)
พอเราออกมาหาสถานที่จัดงาน เราก็ต้องสู้กับใจตัวเอง มันอยากได้นั่นได้นี่ เพิ่มอันนั้น แต่งตรงนี้ เครื่องเสียงร้านบอก ‘กูมีลำโพงให้มึงตั้ง 4 ตัว มึงอยากได้เพิ่มอีก 2’ เอาน่ะ กูอยากได้เอง จ่ายเอง เดี๋ยวยกเอง ติดตั้งเองด้วย ก็เนี่ยมันเลยหาคนมาทำงานด้วยยาก เพราะถ้าพี่อยากเอา พี่ก็ต้องได้ (หัวเราะ)
อันที่จริง secret location มันทำให้เรื่อง safe space เด่นมาโดยอัตโนมัติ ด้วยความรู้สึกว่า’แม่เอาอยู่’ คนที่มางานเราก็พอจะรู้จัก Mae Happyair อยู่บ้าง เค้ารู้ว่าเราทำอะไร เรารักคอมมูนิตี้นี้มากแค่ไหน กฎที่เราประกาศไว้ ก็เป็นกฏกลางๆ ไม่ได้เคร่งหรือจำกัดพฤติกรรมจนเกินพอดี พอคนจำนวนหนึ่งเคารพ มันก็เกิด prototype ขึ้นหนึ่ง สอง สาม กลายเป็นทุกคนช่วยกันดูแลตรงนี้ให้เกิดเป็น safe space
เคยมีงานนึงที่สนับสนุนคอมมิวนิตี LGBTQ+ และมีส่วนลดให้สำหรับ trans ก็มีคนแอบอ้างเอาส่วนลดเข้างาน
พี่โกรธมาก คุยกับเพื่อนที่อังกฤษว่าทำไมกฏในปาร์ตี้เค้ามันเวิร์ค พอมันต่างที่มันเลยต้องต่างวิธี คนที่นี่มันออกแนวกฏมีไว้แหก ยิ่งห้ามเค้าก็ยิ่งทำถ้าไม่พูดถึงก็อาจจะไม่ทำ แต่ถ้าบอกว่าห้ามปุ๊บ แม่งอยากฝ่าฝืนทันที
ส่วนคนที่ทำไปแล้ว ไม่มีอะไรนอกจากประนามมัน ทำเรื่องที่น่าอับอาย ให้มันทนตัวเองไม่ได้แล้วหายไปเอง
ทำไมจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+
เราว่าการที่เราจะ come out มันผ่านหลายขั้นตอนที่ซับซ้อนนะ ในตัวคนๆนึง อย่างน้อยเราอยากให้พื้นที่ของเราเป็นพื้นที่ที่เค้าไว้ใจได้
แล้วเรามีวิธีจะทำให้พื้นที่นั้น ๆ ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้ยังไงบ้าง
อย่างแรกทำให้ตัวเองเป็นสื่อ งานของพี่มันมีเมสเสจของสิ่งเหล่านี้แฝงอยู่ด้วยตลอด เราก็จัดอีเวนท์อยู่เรื่อยๆ มีคนหน้าใหม่เพิ่มเข้ามา รับรู้ในกฏระเบียบงานซึ่งไม่ได้เยอะจนเกินไป ทุกคนทำได้มันก็สันติ
ตอนนี้เสียงของ LGBTQ+ ดังขึ้นบ้างไหม
พี่ว่าดังขึ้นนะ แต่จะดังในเลเวลไหนแล้วแต่ว่าแต่ละคนอยากได้อะไร ถามพี่ว่าอยากได้สมรสเท่าเทียมมั๊ย ก็อาจจะไม่ได้อยากได้มากเท่าให้ทรานส์ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียม
กลับมาที่เรื่องปาร์ตี้ มีอีกงานนึงชื่อ Queer Dance ต่างจาก Non Non Non ปกติยังไง
หลัง ๆ มาพี่ได้ทำงานกับศิลปินหลากหลายมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วพี่ต้องอินกับงานศิลปินคนนั้นก่อนถึงจะเริ่มทำโปรโมทตัวคนนั้นๆ แล้วเราก็อินหลายอย่างมาก ย้อนกลับไปสมัยเราเรายังวัยรุ่น ผ่านดนตรีมาหลายแนว Non Non Non มันชัดกับปาร์ตี้เพลงเทคโน บีทหนักๆ fast music ไปแล้ว
Queer Dance จึงเป็นบ้านของเควียร์ที่ไม่ได้บอกว่าคนทั่วไปห้ามเข้า แต่มันแปลว่าพอคุณเข้ามาปึ๊บ คือคุณมาเต้นในบ้านของเควียร์นะ ฉะนั้นมันคือการเคารพกันและกันแค่นั้นเอง ที่นี่จะเป็นพื้นที่ของประสบการณ์ระหว่างดีเจหน้าใหม่ได้เล่นกับศิลปินรับเชิญของเรา พี่เปิดพื้นที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่พี่รู้สึก ไม่ว่าจะเป็นแอมเบียนต์ experimental อิเล็กทรอนิกป๊อป ร้องสด ดีดกีตาร์ โฟล์ก ได้หมด จะมาแนวไหนก็ได้ Queer Dance เป็นโจทย์ที่กว้างมากแล้วแต่ว่าอะไรจะหล่นลงมาให้เราทำ ให้กฏแรงดึงดูดมันทำงาน งานนี้คนยังโซเชียลกันได้
ปาร์ตี้ทั้งสองเหมือนเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าพี่ด้วย เราเปิดเพื่อรับสิ่งที่เหมาะกับเราเข้ามา เราตั้งใจทำมัน แล้วพี่อยากซัพพอร์ทดีเจบ้านเราด้วย ดีเจบ้านเราเก่งมากนะ แต่พี่อยากให้ข้างนอกมองเห็นมากขึ้น
ทำยังไงให้คนเห็นว่าดีเจโลคัลเก่ง
ต้องผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย จนเกิดความมั่นใจ คราวนี้เค้าจะมีที่ไปต่อเอง
ได้ไปเล่นที่เวียดนามได้ยังไง
โปรโมเตอร์ชื่อ Electronic imports เขามาเจอพี่ใน Soundcloud เขาเช็กโปรไฟล์แล้วเราทำอะไรคล้าย ๆ กัน พอเราไปเราก็เข้ากับที่นั่นได้สบาย
การไปเล่นที่เวียดนามเหมือนพี่เปลี่ยนสถานที่ทำงานด้วย ได้เปลี่ยนบรรยากาศ ไปเจอสิ่งใหม่ ๆ ออกไปจากคอมฟอร์ตโซน ถามว่าซีนต่างกันไหม ปาร์ตี้ก็คือปาร์ตี้ ทุกที่เหมือนกันหมด แค่มีเวลาเปิดปิดที่ต่างกัน ที่นู่นเขาไปได้ต่อเนื่อง เริ่มวันพุธ ยาวไปถึงคืนวันอาทิตย์
ต้องปรับตัวเยอะไหม
ไม่เลย พี่รู้สึกว่าเป็นตัวเองได้มากกว่าที่นี่อีก พี่เดินคอนเซ็ปเดิม เค้าขอ 100% พี่ให้ไปก่อน 115% บางที 120% เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ พอไปบ่อยๆ เราเริ่มเข้าใจเมืองเค้ามากขึ้น ไม่ได้เล่นเบาลง แต่มีวิธีเล่าเรื่องที่ต่างออกไป เวลาไปที่ใหม่ๆพี่จะชอบมีแนวคิดว่า ถ้าชั้นจะมาที่นี่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เราจะ play safe หรือเป็นบ้าใส่ไปเลย ส่วนใหญ่ก็จะเลือกแบบหลัง (หัวเราะ)
คิดว่าทำไมซีนดีเจในไทยเฟรนลีขึ้น
เพราะมีสื่อให้เห็นเยอะขึ้น อย่าง Durian Radio เราได้เห็นดีเจมาเปิดเพลงที่ไม่ใช่แค่ในคลับ หลังโควิด บ้านเรามีดีเจเพิ่มขึ้น เชื่อว่าทุกคนต้องมีเพื่อนเป็นดีเจแหละ แล้วเราก็เห็นเค้านั่งหาเพลง คิวเพลง เตรียมเซ็ท ฝึกซ้อม นั่นนี่อีกหลายสิ่ง คนมองอาชีพดีเจในแง่ดีมากขึ้น มันคืออาชีพหนึ่ง
อยากเห็นอะไรในคลับซีนไทยมากขึ้น
พี่ว่าตอนนี้มันดีหมดแล้ว ทุกกลุ่มทำงานกันขยันอะ แล้วเขาก็เก่งในการเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง พี่อยากให้วงการดนตรีบ้านเราเป็นร่มคันใหญ่ที่สามารถแตกไปเป็นอาชีพเล็ก ๆ หลายตำแหน่ง เป็นองค์กรที่มีความแข็งแรงมากขึ้นได้
เร็ว ๆ นี้จะมีงานอะไรอีกบ้าง
เดือนนี้งานเยอะมาก แต่อยากให้ติดตาม
Sunday 4 – Bangkok Pride after party @ Lido Connect
Sat 10 – Queer Dance #3 w/ Toni Yotzi (Melbourne,AU)
Sat 17 – NON NON NON : Speed Queen @ Arcan, Saigon
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Non Non Non ได้ที่ https://www.facebook.com/NONNONNONBANGKOK และ Queer Dance ได้ที่ https://www.instagram.com/queerdance_worldwide/