Story by Nattharinee C.
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘สื่ออิสระ’ ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความหลากหลายทางไลฟ์สไตล์ แน่นอนว่าเสียงดนตรีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าหากันเพื่อพบพามาเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ เช่นเดียวกับชายผู้หลงใหลในการออกจากเซฟโซนไปสัมผัสเสียงที่ไม่เคยได้ยินอย่าง ‘จอส—ธีรสุต เล็กอุทัย’ เจ้าของเพจ Experimentive ผู้ทำหน้าที่สื่อและจัดงานดนตรีสายทดลอง เช่น พรหมวิหาร, Spiritual Post-Rock และ Exotic Sound Vol.1-4 ที่เขาเชื่อว่าคนตัวเล็ก ๆ แบบเหล่านักฟังหรือศิลปินที่ถึงแม้ไม่ได้ยืนอยู่บนตลาดเมนสตรีมก็สามารถขับเคลื่อนวงการเพลงไทยได้ ทว่าจุดเริ่มต้นของความแปลกประหลาดทางเสียงที่เปิดประตูสู่โลกกว้างนั้นสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้แก่เขาบ้าง ลองมาทำความรู้จักไปพร้อมกับเราได้ที่นี้เลย
ที่มาของเพจ Experimentive อะไรที่ทำให้เราสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา
ส่วนตัวผมเป็นแฟนเพลงของศิลปินนอกกระแสหลายคน และเห็นว่าบ้านเรามีศิลปินไทยเก่ง ๆ เยอะมาก ซึ่งพวกเขาไม่ค่อยมีพื้นที่สื่อหรือพื้นที่แสดงออกกัน การสร้างแพลตฟอร์มในชื่อ ‘Experimentive’ จุดประสงค์ส่วนหนึ่งก็เพื่อทดลอง เรียนรู้ โดยพยายามสนับสนุนศิลปินด้วยการบอกต่อ และเผยแพร่ผลงานของพวกเขา ผมหรือไม่ว่าใครในฐานะผู้ฟังเอง ก็อาจเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ช่วยซัพพอร์ตทำให้ดนตรีแนวนี้ไปได้ไกลกว่าเดิมครับ
ตั้งแต่วันแรกที่ได้ค้นพบในสิ่งนี้ มันทำให้เรากล้าเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ด้วยหรือเปล่า?
ถ้านับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในหลาย ๆ ช่วงของการทำ Experimentive สำหรับผมมันเหมือนกับการได้ทำอะไรแปลกใหม่ครั้งแรกในชีวิตที่ไม่เคยทำมาก่อน แน่นอนว่าเราพร้อมเปิดรับเสมอ อาจจะเรียกว่าเป็นความกล้าก็ได้ครับ และน่าจะเป็นแบบกล้า ๆ กลัว ๆ เช่น การออกไปฟังแนวดนตรีที่แตกต่างกัน ****รวมถึงการได้รู้จักศิลปินและได้เข้าใจวิธีคิด วิธีการทำงานของพวกเขา ยิ่งการได้ลองปรับมุมมอง จากที่เราเคยเป็นผู้ฟังอย่างเดียว พอกลายมาเป็นสื่อ และบางครั้งก็เป็นผู้จัดซึ่งต้องทำงานกับศิลปิน ยิ่งทำให้เราออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ทั้งเรื่องการทำงานและใช้ชีวิตครับ
มนต์เสน่ห์ของแนวเพลงสายทดลองหรือดนตรีทางเลือกในมุมมองของเรา
ผมกลับมองคำว่า ‘ดนตรีทดลอง’ เป็นชื่อเรียกกว้าง ๆ ของลักษณะกระบวนการสร้างผลงานของศิลปินมากกว่า เพราะมันไม่ได้เจาะจงประเภทหรือจำกัดความว่าเป็นแนวเพลงอะไรอย่างตายตัว แต่มันคือความคิดสร้างและการรังสรรค์ ความกล้าที่จะหลุดออกจากกรอบ ทั้งกรอบจารีตประเพณี ผลลัพธ์ทางธุรกิจ หรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ที่ประกอบกับตัวดนตรี ทำให้เราสามารถสัมผัสมิติที่ลึกขึ้นนอกเหนือจากการฟังเสียงเพียงมิติเดียว
จากการจัดงานอีเวนต์เล็ก ๆ ในฐานะผู้จัด Individual สู่การจัดสเกลงานใหญ่ อย่างการไปร่วมมือกับทีม ‘Mahahere’ และ ‘มูเตลูแลนด์’ นับเป็นเป้าหมายที่เคยคาดฝันมาก่อนหรือเปล่า?
พอเริ่มตัดสินใจทำตรงจุดนี้ ทั้งการจัดดนตรีดูกันเองในบ้าน สู่การทำอีเวนต์สเกลเล็กซึ่งมีรสชาติงานดนตรีในแบบของตัวเอง จนมีผู้ใหญ่ในทีม Mahahere หรือ มูเตลูแลนด์ มามองเห็น ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์สำหรับผมมากเลยครับ มันทำให้ผมเชื่อเรื่องความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ แถมนำพาผมไปพบเจอผู้คนและหลายสิ่งหลายอย่างมากมายที่ค่อย ๆ เชื่อมต่อกัน ตอนนี้ยังแอบคิดอยู่ว่า ถ้าเราทำต่อไปอย่างมีระบบแบบแผน คอมมิวนิตี้ก็คงเติบโตขึ้น โดยทิศทางก็จะ Improvise พัฒนาลื่นไหลไปเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ที่ได้รับมาหลังจากการทำงานแต่ละงาน ต้องขอขอบคุณสำหรับโอกาสดี ๆ นะครับ
3 คอนเสิร์ตสุดประทับใจและงานดนตรีที่ทำให้เคยเสียน้ำตา
จริง ๆ แล้ว งานดนตรีที่ทำเอาเสียน้ำตามีหลายงานมากครับ (หัวเราะ) ประกอบว่าช่วงนั้นผมมีภาวะจิตใจอ่อนไหวด้วย แต่การร้องไห้ในที่นี้ เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ท่วมท้นในหลากหลายอารมณ์ เหมือนเป็นการปลดปล่อยที่ทำให้รู้สึกดีน่ะครับ ส่วนสามงานที่เลือกมาล้วนเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผมในแง่ของการฟังเพลงเลยครับ เช่น
งานโปรโมท EP Album ‘Surfing Ghost’ ของวง Wednesday ที่ช่างเชื่อม (ช่างชุ่ย) เมื่อธันวาคมปี 2017 ตอนนั้นไม่ได้ฟังเพลงหรือดูดนตรีนานมาก งานนี้ผมบังเอิญไปดูแล้วตกใจครับ เพราะไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หันกลับมาฟังเพลงอย่างจริงจังครับ ถัดมาเป็นการชมศิลปะมัดเชือกแบบ Shibari โดยอาร์ตทิสที่ชื่อ Unnamedminor ช่วงพฤศจิกายนปี 2019 ซึ่งเบื้องหลังเป็นดนตรีประกอบฉากของศิลปินนาม Space War คือเขาใช้พิณประดิษฐ์เสียงแบบที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนยิ่งทำให้มุมมองความรู้สึกต่อการฟังเพลงเปลี่ยนไป เจ๋งดีครับ
และสำหรับ Post-Gazer 3 เทศกาลดนตรีแนวโพสต์ร็อคที่จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 ก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำผมว่า ยังมีกลุ่มคนฟังที่ชอบดนตรีเฉพาะทางแนวเดียวกันอยู่ ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการทำเพจ Experimentive ต่อมาครับ
วงการดนตรีนอกกระแสและซีนอันเดอร์กราวนด์มิวสิคภายใน 3 ปีข้างหน้าจากสายตาของเรา
ผมคิดว่าซีนดนตรีนอกกระแสในอีก 3 ปีข้างหน้า จำนวนของศิลปินจะเพิ่มขึ้นครับ เพราะเทคโนโลยีการทำเพลงเข้าถึงง่ายขึ้น ทุกคนสามารถผลิตผลงาน Original จากที่ไหนก็ได้ ศิลปินไทยที่มีความสามารถสูงมีอยู่เยอะมาก ๆ พวกเขากำลังรอการค้นพบ รองลงมาคือกลุ่มคนดู บ้านเรามีหลากหลายกลุ่มผู้ฟังที่กระจัดกระจายกันออกไป แต่บางคนอาจจะไม่มีสิทธิเข้าถึง อันนี้โทษใครไม่ได้เลยครับ ด้วยเหตุผลของโครงสร้างที่ฝังรากลึก การใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงสื่ิอบันเทิงยังคงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอยู่ หากมองในแง่ของค่าแรงขั้นต่ำและระบบเศรษฐกิจ รวมถึงพื้นที่การจัดงานอีเวนต์ในหลายจังหวัด
อีกสิ่งหนึ่งที่คือ วงการนอกกระแสจะเติบโตได้ ก็ต้องพึ่งการตลาดและคอนเนคชั่น ไม่ว่าจากค่ายเพลงหรือที่ใดก็ตาม การประชาสัมพันธ์และฐานแฟนที่แข็งแรงก็จำเป็นมากครับ ส่วนตัวอยากให้สังคมมองเห็นคุณค่าของศิลปินที่สร้างดนตรีในแง่ศิลปะจริง ๆ ดีที่สุดในตอนนี้คือการซัพพอร์ตด้วยเงิน ไม่ว่าจะเป็นการไปดูโชว์หรือซื้อ Merch ของศิลปินที่ชอบ เพราะพวกเขาไม่ต้องเอาเวลาไปลงแรงกับการทำงานนอกเวลามากนัก และสามารถใช้เวลาที่มีเพื่อสร้างและพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้น หรืออย่างน้อย ๆ การบอกต่อก็ช่วยให้ผลงานในโลกออนไลน์ของพวกเขาถูกเผยแพร่ออกไป ผมเข้าใจว่าดนตรีอาจเป็นเพียง Entertainment ชนิดหนึ่ง แล้วแต่รสนิยมของแต่ละบุคคล แต่ถ้ามองภาพกว้าง ๆ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นรายได้ลำดับต้น ๆ ระดับประเทศ ศิลปะดนตรีก็เป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่หากเราส่งเสริมกันดี ๆ ก็มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าสิ่งอื่นเลย
ยังไงฝากติดตามได้ทั้งช่องทาง Facebook, Instagram และ TikTok นะครับ ผมจะพยายามไปทุกที่ที่มีคนเห็น ส่วนงานดนตรี เราจะตั้งใจจัดงานเล็ก ๆ ในรสชาติเฉพาะตัวของ Experimentive อย่างสม่ำเสมอ ใครที่อยากลองชิม เชิญชวนนะครับ มันอาจเป็นรสชาติที่คุณรอคอยมาทั้งชีวิตก็เป็นได้