‘Moonage Daydream’ (2022) ท่องไปในความคิดของ David Bowie ผ่านสารคดีสุดพรึงเพริด

Moonage Daydream review

Brett Morgen ผู้กำกับสารคดี ‘Kurt Cobain: Montage of Heck’ กลับมากับการทำสารคดีฉีกแนวแบบที่ไม่ได้เล่าผ่านมุมมองคนที่เคยร่วมงานหรือมีประสบการณ์ร่วมกับตัว subject มานั่งเล่า ตัดสลับฟุตเทจตอนที่เขามีชีวิตอยู่ แต่เป็นการมอนทาจคลิปสัมภาษณ์ รวมถึงบันทึกการแสดงสดของ David Bowie มาเรียบเรียงตีความใหม่ราวกับว่าเป็นเรื่องเล่าที่มาจากตัวเขาเองใน ‘Moonage Daydream’

หนังเปิดมาด้วยการตั้งคำถามว่า ‘โบวี่ คืออะไรวะ?’ ไม่ได้ใช้คำว่า ‘ใคร’ แต่เป็น ‘อะไร’ เพราะเขาช่าง ประหลาด แปลกใหม่ สุดโต่ง และมหัศจรรย์เกินเบอร์มนุษย์ปุถุชนทั่วไป และผิดแผกไปจากศิลปินคนไหน ๆ ในยุคนั้นจนหลายคนพยายามจะทำความเข้าใจ (แน่นอน นั่นทำให้เขาค่อนข้างมีแฟนเฉพาะกลุ่ม)

แม้จะไม่ได้ลำดับการเล่าเรื่องตามไทม์ไลน์ หรือไม่ได้อธิบายโดยละเอียดถึงที่มาที่ไปและทิ้งไว้แค่เบาะแสให้เราปะติดปะต่อเอาเอง แต่สิ่งนึงที่หนังทำให้เราเข้าใจโลกของโบวี่ได้ง่ายขึ้น คือการเล่าผ่านร่างอวตารต่าง ๆ ของเขาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการจนถึงช่วงท้าย ๆ ของอาชีพ ชื่อเรียกร่างต่าง ๆ อย่าง Ziggy Stardust, Aladdin Sane, Halloween Jack, The Thin White Duke หรือ The Blind Prophet ก็ไม่ได้ถูกเอ่ยออกมาเลย แต่บทเพลงทั้งฮิตและหน้า B กลายเป็นเหมือนเพลงประจำตัวของ alter ego นั้น ๆ (ประหนึ่งเพลงเปิดตัวนักมวยปล้ำ) ก็พอจะทำให้เราจับต้นชนปลายซึ่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยได้

แม้จะไม่ได้ตอบคำถามว่าสุดท้ายแล้วโบวี่คืออะไร หรือเจาะลงไปยังชีวิตส่วนตัวของเขาเพราะวัตถุดิบที่ใช้เล่าล้วนแต่เป็น archive ที่สามารถสืบค้นได้หรือพบเห็นทั่วไปอยู่แล้วในกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ แต่ ‘Moonage Daydream’ ก็เป็นการเล่นแร่แปรธาตุสิ่งที่มีอยู่เหล่านั้นออกมาได้อย่างเพลิดเพลิน ทั้งสี จังหวะการ transition หรือเพลง ถูกใช้เพื่อตอบคำถามอื่น ๆ เช่น ทำไมเขาคิดจะแปลงร่างตลอดเวลา ทำไมเรายังรู้สึกว่าเขาเป็นอมตะทั้งที่กลับดาวตัวเองไปหลายปีแล้ว: เพราะโบวี่ก็คือโบวี่—การถ่ายทอดตัวตนออกมาผ่านสื่อที่หลากหลาย ทั้งเพลง การเคลื่อนไหวร่างกาย หรืองานศิลปะ ตอกย้ำความเชื่อในการสะท้อนแนวคิดโดยไม่จำเป็นจะต้องยึดติดอยู่กับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

เราได้รับรู้วิวัฒนาการของคนคนนึงตลอดระยะเวลาหลายสิบปีผ่านเนื้อเพลงที่เขียนออกมาอย่างแยบคาย และแตกต่างไปตามสิ่งที่เขาตกตะกอนได้เมื่อพาตัวเองไปเผชิญกับเรื่องราวใหม่ ๆ ในที่ที่ไม่เคยไป ภาพเหตุการณ์จริงถูกตัดสลับกับกราฟิกระเริงตา แทรกด้วย voice-over ทุ้มอุ่นของเขาที่บอกเล่าความเชื่อและปรัชญาที่ใช้ในการดำเนินชีวิต บวกกับการเป็นเหมือน concert film มิวสิกวิดิโอ ผสมกับ bio pic ก็ทำให้เราได้ดูภาพและฟังเพลงไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นการนั่งฌาณท่องไปในหัวของ David Bowie

ใครที่ชอบสารคดีทางเลือกแบบ ‘The Velvet Underground’ ทาง Apple TV+ ที่ก็เล่าผ่าน archive ซะเยอะ ก็ถือว่า ‘Moonage Daydream’ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แม้ประเด็นจะไม่ได้หวือหวาหรือทำให้ค้นพบอะไรใหม่ ๆ ในเชิงลึก (หรือข้ามบางช่วงบางตอนไป แต่นั่นก็เป็นสิทธิ์ของผู้กำกับที่จะหยิบเรื่องใดมาเล่า) แต่มุมมองของ Brett Morgen ที่คิดว่า ถ้า David Bowie กลายมาเป็นผู้บรรยายชีวิตของเขาเองมันน่าจะเป็นในลักษณะนี้ก็น่าสนใจ สำหรับบางคนอาจจะยาวไปนิด ควรเตรียมจิตและปล่อยใจให้โล่ง ๆ ไว้ตอนดู ลองพิสูจน์ได้ในสตรีมมิงเซอร์วิสที่คุณ subscribe ได้เลย

ครบรอบ 20 ปี! ทำไม School of Rock (2003) ถึงอยู่ในใจชาวร็อกมาตลอด

Crying in H Mart ความทรงจำแสนอบอุ่นและรวดร้าวที่เล่าผ่านมื้ออาหารของแม่