ในกาแล็กซีอันไกล แสนไกล … ถ้ามนุษย์โลกจะรองเงี่ยหูฟังดี ๆ ก็อาจจะได้เสียงเพลงอิเล็กทรอนิกเคล้ากลิ่นอายดิสโก้ที่ดังไปทั่วทั้งระบบสุริยะ ก่อนภาพจะตัดไปบนดาวดวงหนึ่งที่มีเทคโนโลยีล้ำยุค แต่ทุกคนก็ยังเต้นรำสนุกไปกับคอนเสิร์ตเหมือนที่มนุษย์ทำ โดยบนเวทีมีเอเลี่ยนตัวสีฟ้ารูปร่างคล้ายมนุษย์ 4 คนกำลังบรรเลงดนตรีอย่างครื้นเครง และมีความสุขกับมัน ก่อนที่จะมีกลุ่มทหารไม่ทราบฝ่ายบุกเข้ามาในคอนเสิร์ต แล้วเพลงก็จบภาพก็ตัดไป
สำหรับคนที่ชอบเพลง One More Time ก็อาจตื่นเต้นเป็นธรรมดาที่ MV เพลงนี้เป็นอนิเมะญี่ปุ่น ทั้งลายเส้นและภาพก็พอดูออกว่าปีลึกอยู่เหมือนกัน แต่ความจริงแล้ว นี่คือฉากเปิดของซีรีส์อนิเมะระดับตำนานที่ได้ Leiji Matsumoto ปูชนียบุคคลของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นมาอำนวยการสร้างให้ เพื่อโปรโมตอัลบั้มที่สองของดูโอ้โรบอทนาม Daft Punk โดยไม่มีใครคิดว่าอีกหลายปีต่อมา มันจะเหนือกาลเวลาขนาดนี้
‘Discovery’ ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร ‘Rolling Stone’ ว่าเป็น 1 ใน 500 อัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาล เพลง One More Time เองก็พา Daft Punk ติดชาร์ต top 5 หลายสิบประเทศ และทำให้ทั่วโลกได้รู้จักดูโอ้คู่นี้ เป็นยุคแรกที่พวกเขาประกาศว่าตัวเองคือหุ่นยนต์พร้อมสวมหมวกเหล็กที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา จนเป็นไวรัลไปทั่วอินเทอร์เน็ต
แต่น่าเสียดายที่ ‘Interstella 5555: The 5tory of the 5ecret 5tar 5ystem’ กลับไม่ถูกจดจำในฐานะซีรีส์อะนิเมะชั้นครู เท่าที่แฟนเดนตายวาดหวังไว้ เนื้อเรื่องของมันเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของอาจารย์ Leiji Matsumoto การเสียสละเพื่อความรัก การสูญเสียมิตรภาพที่ยากจะลืมเลือน รวมถึงเซ็ตติ้งของอวกาศไซไฟที่จับต้องได้ มาดูตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าร่วมสมัยมาก ๆ ที่แม้จะไม่มีบทพูดเลย แต่อนิเมะก็ค่อย ๆ เฉลยเรื่องราวของมันช้า ๆ ไปกับตามเพลงของ Daft Punk
เนื้อเรื่องเกี่ยวกับผู้จัดการวงดนตรีอันชั่วร้าย ที่ลักพาตัวนักดนตรีจากทั่วแกแล็กซี่มาเซ็นสัญญาทาสให้กลายเป็นศิลปินบนดาวโลก ซึ่งเฉลยทีหลังว่า จริง ๆ แล้วเขาก็คือมนุษย์ต่างดาวที่ต้องการสะสมแผ่นเสียงทองคำให้ครบ 5,555 แผ่น และบูชายัญศิลปินเก่ง ๆ เพื่อรับพลังระดับจักรวาลแล้วใช้มันเพื่อครองโลกทั้ง Mozart หรือศิลปินเก่ง ๆ ในแต่ละยุคล้วนเป็นมนุษย์ต่างดาวหมด
ต่อจากเพลง One More Time กลุ่มตัวเอกก็ถูกลักพาตัวมายังโลกเพื่อชุบตัวให้เหมือนมนุษย์และถูกบังคับให้เล่นดนตรีในชื่อวง ‘The Crescendolls’ (มาจากชื่อเพลงในอัลบั้ม) โดยที่ขัดขืนไม่ได้เพราะโดนควบคุมจากแว่นตาที่สวมอยู่ ความหวังทั้งหมดอยู่ที่มนุษย์ต่างดาวอีกคนหนึ่งซึ่งขับยานรูปกีตาร์บินมาช่วยพวกเขา ก็ต้องตามไปเอาใจช่วยว่าเรื่องราวของพวกเขาจะจบลงยังไง
มีคนรวบรวมเพลงทั้งหมดเรียงตามเนื้อเรื่องไว้เพลย์ลิสต์แล้ว ลองไปดูติดตามทุกตอนได้ที่นี่
นอกจากเรื่องราวน่าตื่นเต้นของภารกิจช่วยวงดนตรีแห่งกาแล็กซี่ อนิเมะเรื่องนี้ยังสะท้อนความร้ายกาจของอุตสาหกรรมดนตรีที่หาประโยชน์จากนักดนตรีอย่างเลือดเย็น แม้ ‘The Crescendolls’ จะได้เล่นในเวทีระดับประเทศ แต่พวกเขาและเธอไม่ได้มีความสุขเลย เพราะดนตรีของพวกเขากลายเป็นแค่สินค้า เป็นแค่ตัวเลขที่ต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น การเปรียบเปรยว่าศิลปินดัง ๆ ในแต่ละยุคเป็นมนุษย์ต่างดาวบอกว่าพวกเขาล้วนแตกต่าง มีภาษาและมีพรสวรรค์ในแบบของตัวเอง แต่พอเข้ามาอยู่ในวงจรอุบาทของดนตรีป๊อปแล้ว ทุกคนต้องเหมือนกันหมด สิ่งนี้ฆ่าตัวตนของพวกเขาอย่างช้า ๆ สังเกตได้เลยว่าในซีน Golden Record ศิลปินทุกคนร้องเพลงอย่างเข้าถึงอารมณ์ ยกเว้นเหล่าตัวเอกของเรา
ไอเดียของการทำหนังเพื่อโปรโมตอัลบั้มนี้อยู่ใน memory card ของทั้งสองมาตลอดตั้งแต่อยู่ในห้องอัด โดยมีไอเดียอยากให้มันเป็นหนังไซไฟที่เล่าเรื่องอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย ในตอนแรกเขาอยากทำหนังคนแสดงเกี่ยวกับการปลดแอกตัวเองจากการกดขี่ของเหล่าเครื่องจักรกล แต่ก็ต้องพับไป จนได้ไอเดียว่าน่าจะทำอนิเมชั่นดีกว่า ซึ่งฮีโร่ในดวงใจคนแรกที่พวกเขาคิดถึงทันทีเลย คืออาจารย์ Leiji Matsumoto
หลังจากที่เขารวมทีมเขียนบทได้แล้ว ก็รีบติดต่อ TOEI Animation ทันทีผ่านค่ายเพลงญี่ปุ่นที่ดังที่สุดในยุคนั้นอย่าง Toshiba EMI หลังจากความพยายามยื่นโปรเจกต์อยู่หลายเดือน ในที่สุดอาจารย์ Matsumoto ก็ตอบตกลง เขาให้เหตุผลว่าตัวเขาเองก็ชอบและได้แรงบันดาลใจจากผู้กำกับฝรั่งเศสมาเยอะเหมือนกัน (FYI: Daft Punk เป็นวงฝรั่งเศส)
สี่ตอนแรกของอนิเมะยังถูกหยิบมาฉายในช่อง Cartoon Network อีกด้วย ในบทสัมภาษณ์ของ Daft Punk กับทางช่อง พวกเขาบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจมหาศาลมาจากอนิเมะ ‘Captain Harlock’ ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แน่นอนว่ามันถูกสร้างโดยอาจารย์ Leiji Matsumoto เขาพูดได้เต็มปากเลยว่า ดนตรีของพวกเขาได้รับแรงบัลดาลใจจากการ์ตูนที่เคยดูในวัยเด็กทั้งนั้น และพวกเขาดีใจมากที่ 20 ปีต่อมาก็ได้ร่วมงานกับไอดอลของพวกเขา ถึงจะชอบ ‘Evangelion’ หรือ ‘Ghost in the Shell’ แต่ยังไงพวกเขาก็ชอบการ์ตูนญี่ปุ่นยุคเก่ามากกว่า
‘Interstella 5555: The 5tory of the 5ecret 5tar 5ystem’ ไม่ใช่แค่เครื่องยืนยันความยอดเยี่ยมของอัลบั้ม ‘Discovery’ เท่านั้น แต่มันยังสะท้อนถึงความอิสระและความสร้างสรรค์ของศิลปินถ้าไม่ถูกทุนใหญ่ครอบงำ เด็กในยุคนั้นที่ซื้ออัลบั้มนี้จะได้ ‘Daft Club’ ที่มีรหัสให้เราเข้าไปล็อกอินบนเว็บไซท์ เพื่อรับชมซีรีส์นี้ทุกตอน บอกเลยว่า Daft Punk ก็เป็นคนบุกเบิกการตลาดออนไลน์ในซีนดนตรีเป็นคนแรก ๆ ด้วย
แต่สาเหตุที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จก็พอเดาได้จากบทสัมภาษณ์ของทั้งคู่เอง เพราะเด็กยุคนั้นไม่ฟังเพลง dance music เลย ในตลาดใหญ่สุดอย่างอเมริกาปี 2000 คือจุดพีคสุด ๆ ของตลาดเพลงป๊อป ซึ่งพวกเขามีทั้ง Gorillaz, Lady Gaga, Coldplay กับเพลง Viva La Vida และเป็นยุคที่เต็มไปด้วยเพลงฮิปฮอปบนท็อปชาร์ตทั้ง Eminem แล้วยังมี The Black Eyes Peas, Jay Z และ Snoop Dogg
แถมด้วยลายเส้นของความเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเก่า ๆ เองก็ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในอเมริกาจะซื้อเลย กว่าอนิเมะจากญี่ปุ่นจะได้รับความนิยมในกลุ่มเด็ก ๆ ก็เพิ่งจะ 10 ปีที่แล้วเอง
พอได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้แล้วรู้สึก touch ส่วนตัว เพราะเราทำ The COSMOS ขึ้นมาก็เพื่อเป็นสถานีอวกาศที่กระจายความถี่เพลงเจ๋ง ๆ ไปทั่วจักรวาลเหมือนกัน เราไม่อยากให้ศิลปินต้องจากดาวบ้านเกิดตัวเองเพื่อมาเป็นศิลปินป๊อปในอุตสาหกรรม แต่อยากให้พวกเขาเล่นดนตรีอย่างสนุกสนานในที่ที่ของตัวเอง และเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ฟังและส่งต่อเพลงของพวกเขามากกว่า
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณอาจารย์ Leiji Matsumoto ส่วนตัวเคยดูแค่งานยุคหลัง ๆ ของแกอย่าง ‘Space Pirate Captain Harlock’ เท่านั้น แต่น่าเสียดายที่โลกสูญเสียบุคคลสำคัญแบบนี้ไป ถ้าใครชอบผลงานของศิลปินคนไหน ก็ติดตามและอุดหนุนเขาตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ดีกว่า เพราะเขาจะได้มีกำลังใจในการสร้างผลงานใหม่ ๆ ออกมาอีก
‘Moonage Daydream’ (2022) ท่องไปในความคิดของ David Bowie ผ่านสารคดีสุดพรึงเพริด
ครบรอบ 20 ปี! ทำไม School of Rock (2003) ถึงอยู่ในใจชาวร็อกมาตลอด