ยากที่จะคาดเดา! The Whitest Crow อยากให้คุณตื่นเต้นไปกับทุกการปล่อยเพลงใหม่ของพวกเขา

The Whitest Crow interview

Story: Montipa Virojpan and Peerapong Kaewtae
Photos: Genie Records

เมื่อได้ข่าวว่า The Whitest Crow วงอัลเทอร์เนทิฟร็อกจัดจ้านจาก Genie Records จะปล่อยเพลงใหม่ชื่อ ‘หวานเป็นลม ขมเป็นบ้า’ เราก็ตั้งตารอจะได้ฟังพร้อมกับทุกคนในวันที่ 20 เมษายน

และเมื่อวันนั้นมาถึง ช่อง YouTube ของเราสแตนบายพร้อมแล้วที่จะกดเล่นในเวลาเที่ยงตรง เพียงแค่อินโทรขึ้นมาเราก็ตาลุกวาวทันที เพราะกลิ่นอายดนตรีแบบอินดี้ร็อกผสมนีโอไซเคเดเลีย หรือจะเรียกว่าแบ็กกี้แบบพวกวง Madchester ตอนปลาย 80-90s ก็ไม่ผิด แล้วยังใส่จังหวะกลองเร็กเกตอนชวนสะบัดสะโพกในท่อนคอรัส กับท่อนดรอปพ่นโฟลวแรปแบบเท่จะบ้า จนเมื่อจบเพลงเราก็กดเล่นซ้ำวนแบบหยุดไม่ได้

หลังจากปล่อยเพลงใหม่ไปได้เพียง 2 ชั่วโมงกว่า The Whitest Crow ก็เดินทางมาพบกับ The COSMOS ถึงที่ออฟฟิศเพื่อบอกเล่าเบื้องหลังความฉีกของซิงเกิ้ลที่ 5 กับมิวสิกวิดิโอที่จำกัดความว่า ‘ปล่อยใจฝัน’ และสารพันบันเทิงที่สนุกทุกครั้งเมื่อได้เจอกับพวกเขาทั้ง 4 คน ใน Transmission

The Whitest Crow

สมาชิก The Whitest Crow
ไตเติ้ล—ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์ (ร้องนำ)
อ๋อง—วิศวชาติ สินธุวณิก (กีตาร์)
แบงค์—นนทพัทธ์ พรหมจาต (เบส)
เบ็น—นัทธพงศ์ พรหมจาต (กลอง)

เพลงของวงอื่น ๆ มักจะปล่อยกันตอนเที่ยงคืน ทำไมเราถึงปล่อยตอนเที่ยงวัน

เติ้ล: ปกติมันจะมีเวลาปล่อยเพลงที่คนคุ้นชินอยู่แล้ว เราอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ เหมือนลองทำเพลงใหม่ ๆ ค่ายเองก็มีอะไรใหม่ ๆ ให้ลองเหมือนกัน เราก็ลองให้ทุกคนได้ฟังตั้งแต่กลางวันเลย อากาศร้อน ๆ ฟังเพลงสบาย ๆ  (หัวเราะ)

อ๋อง: เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ปล่อยตอนเที่ยง

เบ็น: เหมาะกับพักเที่ยงกินข้าว เพลงมันอัปบีตด้วยไง

แต่ก็ทำงานดีอยู่นะ ปล่อยมาแปปเดียวหมื่นกว่าวิวแล้ว

TWC: หรออออ

อ๋อง: เช็กแปป… 14,000 แล้ว

เติ้ล: ล่าสุดยอดวิวทีเซอร์เราแซงเพลงเก่าไปแล้ว (หัวเราะ)

สารตั้งต้นของเพลง ‘หวานเป็นลม ขมเป็นบ้า’

เติ้ล: เราเป็นคนเบื่อง่ายด้วยแหละ ถ้าทำเพลงแบบเดิมก็ฟังเพลงเก่าดีกว่า ก็เลยลองอะไรใหม่ ๆ ปกติเราเป็นคนที่ทำการบ้าน ทำเพลงส่งให้เพื่อน ๆ ฟังแหละว่าแบบนี้ดีรึเปล่าวะ ขึ้นเพลงจากริฟฟ์กีตาร์ ตอนทำ The Whitest Crow ก็เข้าห้องซ้อมแล้วไปนั่งแจมกัน แล้วก็ใช้ไมค์ซูมโง่ ๆ อัดมา ลองโปรแกรมมิงเขียนนู่นเขียนนี่กัน แต่พอได้มาทำ S.O.L.E. เราก็ลองวิธีอีกแบบ ใช้ลูป หรือแซมป์มาขึ้นเพลงก่อน พอทำ ‘หวานเป็นลม ขมเป็นบ้า’ ก็เลยลองเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบใหม่ คือการเริ่มจากบีต เลยทำให้ดูเหมือนไม่ได้เริ่มจากแบนด์ แต่สุดท้ายก็ยังมีกำพืดเดิม คือริฟฟ์กีตาร์แบบเดิม ชีวิตนี้คือกูไล่สเกลได้แค่นี้แหละ (หัวเราะ) แบบโครเมติก แต่เฮ้ย! พอมาอยู่ด้วยกันแล้วมันน่าสนใจ มันเข้ากัน

แล้วถามว่า หยิบอันไหนมาเป็นห้องสมุดเพลงหรือวัตถุดิบ จริง ๆ มันมาเหมือนจากกำพืด พอยต์แรกเราชอบอะไรที่มันมีความ jungle ดิบ เหมือน John Frusciante ที่จิตหลุดไปไกล (หัวเราะ) เราเริ่มเล่นกีตาร์เพราะจอห์นเหมือนกันนะ แต่พอเจอจอห์นเวอร์ชันปัจจุบันแล้วเขาแบบ… น้าเขาทำอะไรแล้ววะ แต่ผมก็ชอบน้าแบบนี้นะครับ ก็เลยได้อิทธิพลมาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่พอมาอยู่ในโครงของเพลงแล้วมันมีองค์ประกอบโดยรวม มีกีตงกีตาร์ มันก็ดูเป็น Madchester โดยอัตโนมัติ มันมีสันดานบางอย่างที่เราไม่ได้ตั้งใจนึกถึงมัน แต่สุดท้ายมันก็ออกมามีมู้ดแบบนี้อยู่ดี เหมือนเป็นอะไรที่เรามีแล้วเราทิ้งไม่ได้ ด้วยปัจจุบันเราเองก็หาเพลงใหม่ฟังเรื่อย ๆ วงร็อกอย่างเราก็ฟัง NewJeans (หัวเราะ) หรืออย่าง Bring Me the Horizon หลัง ๆ ก็มีอิทธิพลกับเรา พอมี Jordan Fish เข้ามาแล้วมันเปลี่ยนไปเยอะ ความใหม่ ความสด ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ เราอยากให้เพลงสนุกขึ้นด้วยแหละ ใส่ส่วนผสมนั่นนี่เข้าไป มันคือการทดลองในโปรแกรม โยนไฟล์กันไปมา อัดนู่นอัดนี่ เลยออกมาเป็นกลิ่นประมาณนี้

เบ็น: เหมือนพอลองเล่นไปเรื่อย ๆ มันจะค่อย ๆ แคร็กออกมาเอง

เติ้ล: จริง ๆ เพลงนี้มีหลายเวอร์ชันมากนะ ท่อนฮุกเราพัฒนามาเรื่อย ๆ ตอนแรกจะเป็นเฮาส์ เทคโนเลย แล้วเราเอาไปเล่นสดก่อนเข้าห้องอัดด้วยซ้ำ แต่เป็นอีกเวอร์ชันที่ย้วย ๆ จะหนืดกว่านี้ แล้วพอเล่นไปเล่นมาระหว่างทางเจอจุดความสนุก มันเลยค่อย ๆ ตบ ๆ จนกลายเป็นเวอร์ชันปัจจุบัน

ไตเติ้ล The Whitest Crow

มิวสิกวิดิโอได้แรงบันดาลใจจาก ‘ซินเดอเรลล่า’ กับตัวเอกที่ชวนนึกถึง Renton จากหนังเรื่อง ‘Trainspotting’

เติ้ล: เราอยากได้คนแซบ ๆ มาทำให้ น้อง ตั๋ง—พนิช พงษ์พานิช ก็เป็นอีกคนที่เรามองไว้อยู่แล้วว่าถ้ามีโอกาสทำอะไรแบบนี้ก็อยากให้เขาเป็นคนทำ ซึ่งตั๋งก็จับใจความเพลงท่อนนึงที่ว่า ‘บอกลากันที่เที่ยงคืน’ เลยดูเป็นซินเดอเรลล่าโดยอัตโนมัติ ก็เลยเอาเรื่องมาฟลิปเป็นไส้ในที่แอบซ่อนไว้ว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นยังไง เล่าด้วยอีกวิธีนึง ตัวเอกก็ไม่ได้เป็นเจ้าหญิง (The COSMOS: ซินเดอเรลล่าเล่นยา?) (หัวเราะ) มันมีรองเท้าแก้วอยู่นะ! ตั๋งใช้คีย์เวิร์ดนึงเราชอบมาก เรียกว่า ‘โลกปล่อยใจฝัน’ ก็เลยออกมาเป็นทรงนี้แหละ

เพลงของผู้ชายที่มีน้ำตา

เติ้ล: เราไม่ได้พยายามไปจัดหมวดหมู่มันขนาดนั้น เราแค่เล่าเรื่องที่เราเจอมากกว่า เพราะถ้าเราไปบอกว่ากลาง ๆ มากเลยมันก็ไม่จริง เพราะเพลงพวกนี้มันเล่ามากจากประสบการณ์ของเราเอง รู้สึกว่าอันนี้คือเรื่องที่เราอยากจะเล่าให้ทุกคนฟัง เผื่อว่ามีคนพบเจอแล้วรู้สึกถึงสิ่งเดียวกัน ก็เลยเรียกมันว่าเป็นเพลงของ ‘ผู้ชายที่มีน้ำตา’

เบ็น: เราไม่ได้ตั้งใจที่จะล้อไปกับเทรนด์ sad boy ขนาดนั้น เราเคยมีช่วงที่มานั่งหา persona ของวง (เติ้ล: ว่าถ้า The Whitest Crow เป็นคน จะเป็นคนแบบไหน) แล้วเราดันไปเชื่อมโยงกับการเป็นผู้ชายเจ้าของบาร์ แล้วมีรุ่นน้องมาร้องไห้ใส่ เราคงเป็นผู้ชายแบบนั้น

อ๋อง: ผู้ชายนั่งหน้าบาร์ ร้องไห้บ้างก็ได้

เติ้ล: เหมือนรุ่นพี่ในร้านเหล้าอะ เรื่องความ ‘ชายแท้’ Hercules อะไรมันมีมาตั้งแต่เมื่อก่อนแล้ว คือเราว่าเรื่องเพศมันไปไหนต่อไหนแล้ว เราแค่จะบอกว่าผู้ชายก็ร้องไห้ ก็เรื่องปกติ เป็น fact เป็นอีกสเปกตรัมนึงของความรู้สึกของเพศนี้แบบนี้ เราไม่ต้องแข็งแกร่ง หรือต้องชนแก้วเหล้าทำตัวห่าม ๆ

เคยคิดไหมว่าตัวละครใน 5 เพลงที่ปล่อยมา เป็นคนเดียวกันหรือคนละคนกัน

เติ้ล: ถ้าคนเดียวกันจะดูเป็นบ้ามากเลยนะ (หัวเราะ) แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือทุกคนที่อยู่ในอัลบั้มเราแชร์โมเมนต์เดียวกัน จะมีความเหมือนเป็นบ้านที่มีคนพวกนี้อยู่ด้วยกัน คือมันไม่มีทางที่จะเป็นคนคนเดียวกันได้ แต่ละคนจะมีห้องห้องนึงของตัวเอง เล่าเรื่องแบบนึง แต่มันอาจจะมีซับเซ็ตว่า คนนี้ของเพลงนี้ กับคนนี้ของเพลงนี้ อาจจะเป็นคนเดียวกันได้ หรืออาจจะเห็นเรื่องราวของคนอื่น แต่ว่าตัวเองไม่ต้องรู้สึกตามก็ได้ ประมาณนั้น เพราะจริง ๆ ในเชิงวิชวลมันจะคล้าย ๆ อัลบั้ม ‘Feather Bureau’ ที่เป็นวงล้อสี คือมันจะมีสเปกตรัมความเศร้าคนละแบบ แล้วเราหยิบตรงนั้นมาเล่าให้มันชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะอันนั้นเรายังทำไม่ครบ EP ก็มาเริ่มทำอันนี้เลย

ทำไมถึงชอบหยิบเอาวลีที่ใช้แพร่หลายหรือสำนวนมาบิดแล้วตั้งเป็นชื่อเพลง

เติ้ล: รู้ปะว่า ‘สำเร็จความเศร้าด้วยตนเอง’ ที่วงไม่มีใครเรียกชื่อเพลงถูกเลย แม่งเรียกเพลง ‘มีสัม’ ๆ พอเขียนใน songlist ว่าเดี๋ยวต่อไปเล่น ‘สำเร็จความเศร้าด้วยตนเอง’ เราแบบ ‘เล่นเพลงอะไรต่อวะ’ พอเขียน ‘มีสัม’ แล้วทุกคนเล่นอัตโนมัติ (หัวเราะ)

เบ็น: คนได้ songlist ไปคงงงว่านี่เพลงอะไรวะ

อ๋อง: ขนาดพรีเซ็ตในเอฟเฟกต์เราก็เซ็ต ‘me sum’ ง่ายดี

เติ้ล: เหมือนการตั้งชื่อเพลงของวงเรามันเป็นความสนุกอีกแบบนึง อารมณ์แบบเพื่อนมีลูกแล้วอยากตั้งชื่อลูกให้เพื่อน (หัวเราะ) จริง ๆ เพลงนี้ ภู นักร้องนำวง Wallrollers เขียนให้ แล้วตอนแรกน้องตั้งชื่อว่า ‘หวานเป็นลม ขมเป็นยา’ แล้วเพลงเนี้ยตอนทำรู้สึกว่ามันเหมือนจะปกติแล้วนะ แต่พอทำไปทำมาเสือกไม่ปกติตอนท้าย รู้สึกเหมือนจะเป็นบ้า เลยเปลี่ยนเป็น ‘หวานเป็นลม ขมเป็นบ้า’

มันมีคลาสของพี่กบ Big Ass กับทีม Mango เขาชวนคนนู้นคนนี้มา คลาสเรามีภู Wallrollers มี Tippsy อยู่ด้วยกัน แล้วโจทย์มันคือให้ทำดนตรีขึ้นมาก่อน แล้วไม่บอกอะไร แล้วให้จับฉลากแต่งเนื้อเพลงจากเมโลดี้กับดนตรีที่วงอื่นทำมา โดยทำยังไงก็ได้ให้รู้สึกว่าวงนั้นแต่งเอง ของเราได้แต่งให้ Wallrollers แต่ของภูได้แต่งให้ของเรา ซึ่งเราไม่เคยมีใครแต่งเนื้อให้เลย แล้วมันน่าสนใจมาก เซอร์ไพรส์เลย เพราะมันยังดูเป็นเนื้อของ The Whitest Crow อยู่ ชอบมาก (The COSMOS: เพลงหน้าให้ภูแต่งให้อีก) เออโทรเรียกแปป แต่มันเพิ่งบ่นอยู่เลยนะว่า ‘พี่ผมแต่งเนื้อเพลงไม่ได้’ …เออ แต่ก็มีการปรับบางส่วนแหละ อย่าง ‘มาเนมี มาเนมา มาเนโม’ (The COSMOS: คล้าย eeny, meeny, miny, moe?) ใช่ มันคือคำ ‘ถุย’ ในเดโม่ อัดมามั่ว ๆ แต่ท่อนนี้เราไม่เปลี่ยน ใส่ไว้อย่างนั้น กลายเป็นว่าแบบนี้มันก็เวิร์ก ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ เหมือนเพลง Red Hot Chili Peppers ‘นิ้งนิ้ง งองงิ้ง งองแหง่ง’ มันคืออารมณ์เดียวกัน แล้วมันอัตโนมัติแบบที่ท่อนนี้ต้องร้องแบบนี้แหละ

ทำไมทยอยปล่อยทีละเพลง ปกติปล่อย 5 เพลงนี่อัลบั้มต้องออกมาแล้วนะ

เติ้ล: เราไม่ได้ทำอัลบั้มเป็นก้อนเดียวแล้วค่อยมาแยก ถ้าเทียบจากเพลงแรกมาถึงเพลงนี้แม่งไม่เหมือนกันเลย (เบ็น: มันคนละช่วงกัน) เรารู้สึกว่าโมเมนต์ตอนนี้เราชอบแบบนี้ว่ะ อยากลองทำแบบนี้ ก็เลยทำเรื่อย ๆ ทีละเพลง แล้วค่อยรวบเป็นอัลบั้มอีกที อาจจะตบให้เข้ากันอีกนิดนึง แต่อยากเล่าเรื่องการเดินทางของเรามากกว่าว่าจุดนี้เราชอบแบบนี้ อยากเป็นประมาณนี้นะ แล้วก็ทำออกมา

เบ็น The Whitest Crow

The Whitest Crow น่าจะเป็นอีกวงดนตรีที่พูดได้ว่าเราเติบโตมาพร้อม ๆ กับเพลงของพวกเขา ตั้งแต่ยุคทำเพลงภาษาอังกฤษ เล่นเวทีเบดรูมที่ The Last Fat Fest ของ Fat Radio ได้ร่วมงานกับค่าย Rats Records กลับมาเป็นศิลปินอิสระและทำอัลบั้มเต็ม ก่อนจะบินมาอยู่ค่ายร็อกยักษ์ใหญ่อย่าง Genie Records ซึ่งมูฟล่าสุดนี้เป็นอะไรที่ทำเอาแฟน ๆ บางคนเขาหวั่นใจว่าวงจะมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิมหรือเปล่า

แต่หลังจากได้ฟังเพลงที่ปล่อยมาหลังเข้าค่าย เรามองว่ามันเป็นธรรมดาที่ซาวด์อาจเปลี่ยนไปบ้างตามประสบการณ์ที่มากขึ้น รวมถึงความสนใจหรือเรื่องที่วงอยากเล่าในช่วงเวลานั้น ๆ ก็ไม่เหมือนแต่ก่อน กับอีกจุดที่เห็นได้ชัดคือเนื้อร้องเป็นภาษาไทยล้วน ในแง่ดีคือมันทำให้เพลงของพวกเขาเข้าถึงคนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายสำหรับทักษะการเขียนเพลง เพราะอย่างที่เรารู้กันดี การเขียนเนื้อภาษาไทยมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้แก่นแท้ของวงที่เราชื่นชอบมาตั้งแต่ต้นนั้นหายไปไหน

เติ้ล: มันยากแบบ ยากมาก ที่มาทำเนื้อไทยเพราะอยากลองอะไรใหม่ ๆ รู้สึกว่าอะไรที่ยาก ต้องทำให้ได้ ก็เลยพยายามทำมาเรื่อย ๆ ซึ่งจริง ๆ ถ้าทำครบทั้งอัลบั้มก็ถือเป็นหนึ่ง achievement ที่กูทำสิ่งนี้ได้แล้วนะ หลังจากนั้นอาจจะกลับมาทำอังกฤษก็ได้

การที่เราเปลี่ยนเนื้อเพลงเป็นภาษาไทยทำให้เสียแฟนคลับไปบ้างไหม

เติ้ล: ไม่ขนาดนั้น (แบงค์: ผมว่ามีบ้าง แต่ถามว่าเยอะมั้ย ไม่รู้) เรามีแฟนคลับตัวยง เจอตั้งแต่แทบจะวันแรก เขายังคอยตามซัพพอร์ตอยู่ แต่ถามว่าคนเริ่มห่างไปจาก The Whitest Crow เมื่อไหร่ คือตอนทำเพลงภาษาอังกฤษยุคปลาย ๆ ของเรา ทุกคนทำเพลงง่ายขึ้น ทุกคนเริ่มมาทำเพลงภาษาอังกฤษมากขึ้น แล้วก็เพลงร็อกไม่ได้เป็นเพลงตลาด คนมีตัวเลือกมากขึ้น สตรีมมิงเริ่มเกิดขึ้นมายุคนั้นพอดี คนไปฟังนั่นนี่ก็ได้ กลายเป็นว่าคนไม่ได้เป็น die hard fan กันง่ายขนาดนั้นแล้ว

เบ็น: ผมมองว่าการทำเพลงภาษาอังกฤษมันเคยมีผลนะ ในช่วงนึงเลยของการที่คนเลือกจะฟังเพลง ช่วง Part Time Musicians ที่เริ่มมีเพลงภาษาอังกฤษที่มันสวนกระแสขึ้นมาบ้าง น่าจะเป็นช่วงที่คนรู้สึกว่ามันน่า explore (The COSMOS: ฟังภาษาอังกฤษแล้วดูเท่กว่า?) อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ ส่วนนึง แต่ผมคิดว่ามันคงเป็นผลผลิตที่เริ่มมีแนวใหม่ ๆ อย่างที่เติ้ลบอก พอมีความหลากหลายมากขึ้น ตลาดคนมันกว้างขึ้น การทำเพลงภาษาอังกฤษกลายเป็น norm มากขึ้น ทำให้การที่ทำเนื้อเพลงเป็นภาษาไทยมันลดลงแหละ สุดท้ายอยู่ที่ดนตรีว่าเราจะไปถูกจริตกับแบบไหนในช่วงนั้น ซึ่งมันอาจจะเป็นช่วงการเฟดดาวน์ลงพอดีของดนตรีร็อกหรัก ๆ ร็อกจ๋า ๆ ตอนนี้เหมือนทุกอย่างมันผสมกันแล้วมากกว่า

ในมุมมองของวง คิดว่าเพลงร็อกยังอยู่ในกระแสอยู่ไหม

เติ้ล: ผมว่าในปัจจุบันอะไรมันมาเร็วไปเร็วมาก แนวเพลงอาจจะไม่ใช่พอยต์หลัก แต่ความรู้สึกร่วมของคนที่ได้จากเพลงนั้นเป็นพอยต์หลักมากกว่า ผมอาจจะไม่ได้ฟังสโลว์ร็อกเป็นปกติ แต่ผมอิน ‘ถ้าเราได้เจอกันอีก’ ของ Tilly Birds มาก ๆ พี่อ๋องอาจจะไม่ได้ฟังฮิปฮอปเลย แต่ตอนนี้ชอบ ‘ธาตุทองซาวด์’ ของ YOUNGOHM มาก ฟังทั้งอัลบั้ม ยังอยากเป็นอีกี้อยู่เลย (หัวเราะ) ผมว่าแนวดนตรีมีส่วน แต่อาจจะปัจเจกมาก ๆ ว่าชอบเพลงนี้เลยชอบวงนี้ mass product มันคือความทัชกับคนฟังมากกว่า ว่ามันฟังก์ชันยังไง เหมือน ‘ทรงอย่างแบด’ Paper Planes เด็กก็ร้องกัน มันไม่เคยมีสแตทว่าเด็กไทยชอบฟังเพลงร็อก ป๊อปพังก์ แล้วมันกลายเป็นอะไรที่ฮิตไปเอง

ทำไม The Whitest Crow ยังเข้าหาสื่อแบบ traditional คือยังทัวร์สื่อ สัมภาษณ์ ไปคลื่นวิทยุ แต่คนยุคนี้เลือกฟังอะไรก็ได้แล้ว ไปขับเคี่ยวกันเรื่องยอดสตรีมแล้ว เรามีมุมมองกับตรงนี้ว่ายังไง

เติ้ล: บางอย่างก็เป็นเรื่องมาร์เก็ตติง แต่เรื่องสตรีมมิงเราก็มีหลังบ้านของค่ายที่ทำให้ ช่วย pitching เข้าเพลย์ลิสต์ต่าง ๆ ถามว่าเราแคร์ไหม… เราทำทุกอย่างแหละครับที่คิดว่าจะสำเร็จ (หัวเราะ) แต่ด้วยพฤติกรรมของวงแล้ว เรารู้สึกว่าเราเข้าหาคนได้มากที่สุดจากการไปออฟไลน์ ไม่ได้พูดถึงว่าไปสื่อนะ แต่ไปเล่นงานนู่นนี่ มันดูเป็นวัฒนธรรมวงร็อกว่าเราไปทัวร์ ไปเล่นสด แล้วคนก็จะตามมาฟังเพลงเรา มันก็จะกลับไปที่ดิจิทัลอีกที ดูสแตทหลังบ้าน ซึ่งมันจะซัพพอร์ตกัน พวกผมไม่ได้เป็นวงที่ลงโซเชียลบ่อย แต่เวลาไปเล่นมันเกณฑ์ fanbase กลับมาได้จริง ๆ

เบ็น: เราถนัดเรื่องทำให้ออฟไลน์เป็นออนไลน์มากกว่า ไม่ได้ออนไลน์จ๋า ๆ ขนาดนั้น

เติ้ล: จริง ๆ พวกผมก็ทำกันอยู่ มี TikTok แล้วนะ! พยายามใช้ชีวิตออนไลน์ ลงโซเชียลมากขึ้นประมาณนึง แต่ด้วยอายุวงเรา เราอยู่มาตั้งแต่เฟซบุ๊กเปิดแรก ๆ พวก active users ที่โตมากับเราตั้งแต่ยุคแรก ที่ตามเราผ่านโซเชียลมีเดียบางทีก็หายไปแล้ว เหมือนทุกคนฟัง ‘Be With You’ แล้วถามว่าเมื่อไหร่จะมีเพลงปล่อย แต่จริง ๆ กูปล่อยอัลบั้มไปแล้ว ก็เลยต้องเกณฑ์ fanbase ใหม่ ลองทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อเข้าหาคนใหม่ ๆ มากขึ้น

เบ็น: อาจจะทำเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง (หัวเราะ)

วงเลยเลือกที่จะจัดงาน Crow Night เอง เพราะเป็นวิธีที่จะได้ใกล้ชิดกับแฟนเพลงที่สุด?

เบ็น: ท้ายที่สุดการที่คนจะอินกับเพลงที่สุดคือเขาต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ซึ่งอะไรที่ตอบโจทย์ที่สุดก็คือคอนเสิร์ต บางทีผมก็เป็น เราฟังเพลงนึงแล้วเราชอบมาก ๆ แล้วรู้สึกชอบยิ่งกว่าเมื่อเราไปเห็นตอนไลฟ์จริง ๆ ต่อให้เขาเล่นไม่เป๊ะ เลอะ ๆ เทอะ ๆ อะไรไม่รู้ แต่มันรู้สึกทัชมากกว่า ทำให้เราเข้าใจถึงความตั้งใจที่ส่งมาจากนักดนตรีได้จริง ๆ

เติ้ล: แต่ถ้าถามว่าวงเชื่อวิธีออฟไลน์หรือออนไลน์มากกว่า จริง ๆ ก็ไม่ได้มีอันไหนไปไกลกว่ากัน เราเชื่อไหมว่าต้องทำออนไลน์แคมเปญหรือยิงแอดให้มันดี ก็เชื่อเหมือนกัน หรือว่าออฟไลน์สำคัญไหม ก็สำคัญ จริง ๆ เราแค่อยากเล่นดนตรี อยากเจอคนนู้นคนนี้ ก็จัดงานเล่นเองก็ได้ เพราะอันที่จริงวงก็ชอบทำอะไรเองด้วยแหละ การทำคอนเสิร์ต ทำอาร์ตเวิร์ก ก็คือวิชาชีพของผมอยู่แล้ว ในเรื่อง operation เราก็ลุยเอง จัดการกันเองให้มันจบ โอเคมันก็มีต้นทุนแหละ (เบ็น: คือถ้าเรามีแรงซัพพอร์ตจากทางฝั่งนี้ มันก็ค่อนข้างจำเป็นอยู่แล้ว) เราก็เสนอว่าอยากทำอย่างนี้ครับ ค่ายซัพพอร์ตไหม ถ้าไฟเขียว ไป ลุย ค่ายก็ซัพพอร์ต

แล้ววงเราไม่มีผู้จัดการด้วย (เบ็น: ถามคุณเติ้ล ติดต่อคุณเติ้ล) เดี๋ยวถามวงให้สักครู่นะคร้าบ (หัวเราะ) แต่ถามว่ามีผู้จัดการดีไหม มีไปเลย เป็นเรื่องที่ดี เมื่อก่อนวงอยู่กับพี่เมย์ (เมย์ สุประภาตะนันท์ Beggars Group) มาเกินครึ่งอายุของวง เรายังไม่มีใครที่เรารู้สึกสบายใจ วางใจได้ทุกเรื่องแบบพี่เมย์ ตอนนี้วงมาอยู่ตรงนี้ก็เลยเป็นสี่คนผลัดกันทำ ช่วยกันดู จัดการกันเอง แต่มันจะมีเรื่องละเอียดอ่อน เช่น เวลาวงดนตรีไปประสานงานกับคนภายนอก มันอันตรายกับวง เพราะวงจะดูเป็นคนเรื่องมาก อันนี้พูดในเชิงที่ว่าถ้าใครทำวง เราว่ามีคนกลางดีที่สุด ตอนเรามีเล่นบางทีคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเป็นวงดนตรี เราไปซาวด์เช็กงานนึง เทคมาบอก ‘เดี๋ยวจัดการนั่นนี่ ๆ ให้นะครับ’ พอถึงเวลาเราขึ้นไปร้อง เขาก็งง (หัวเราะ) แต่จัดการเองได้มั้ย มันก็เร็วกว่า ถูกใจกว่า ก็อยู่ที่ความสบายใจ

เบ็น: มันจบด้วยตัวเองได้ตั้งแต่แรก ผมว่าเรามีความตั้งใจว่าอยากได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันระดับนึง เวลาตัดสินใจอะไรมันก็ทำได้เร็ว แต่มีคนช่วยดูก็ช่วยแบ่งเบาแหละ

เวลาเล่นสด ถ้าต้องเล่นเพลงเดิมซ้ำ ๆ ก็คงมีเบื่อกันบ้าง ปกติวงรีอะเรนจ์เพลงตัวเองบ้างไหม

เติ้ล: มีแค่ transition กับส่วนใหญ่เราชอบเปลี่ยนท่อนโซโล่ (อ๋อง: เกิดขึ้นตอนซ้อม) ถ้าทั้งเพลงเลยอาจจะยัง แต่เพลงเก่า ๆ ก็มีรีอะเรนจ์เยอะอยู่ เพลงยุค Rats Records ถ้ามานั่งนับอายุปีมันก็อยู่มานานแล้ว เข้าใจเลยว่าทำไม Radiohead ไม่อยากเล่น ‘Creep’ มันต้องเบื่อมาก เราก็เหมือนปรับให้เข้ากับซาวด์เราในปัจจุบัน

อ๋อง The Whitest Crow

รู้สึกยังไงที่เพื่อนร่วมค่ายได้ไปเล่นที่ Clockenflap เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ได้ไปเล่นไหม

เติ้ล: คิดว่าน้อง ๆ deserved ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ผมก็ชอบเพลง Three Man Down แล้วเราก็รู้จักน้องตั้งแต่เตยังมีตีกลอง S.O.L.E. แล้วยังมานั่งบ่นหน้าห้องซ้อมพี่ติว่า ‘พี่ เมื่อไหร่ผมแม่งจะดังวะ’ (อ๋อง: ’ผมไม่มีงานเล่นเลย’) ‘เออ เนี่ยเล่นวงพี่แฮปปี้มากเลย หางานให้ผมหน่อย’ เดือนเดียว แม่งไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เราเห็นความพยายาม ความตั้งใจ หรือว่าเป้าหมายของวงว่าอยากเป็นอะไร อยากไปตรงไหน มันก็ deserved ในมุมเรา ไม่รู้ว่า achievement ของน้องมีกี่เลเวล แต่ว่ามันอยู่ตรงจุดที่รู้สึกว่า ‘เขาต้องมาตรงนี้แหละ เขาอยู่ตรงนี้ได้’ แต่ถามว่าควรเป็นวงไทยวงเดียวที่ได้เล่นไหม จริง ๆ ก็ไม่ แต่ถามว่า อยู่ในบรรดาวงที่สมควรได้ไปเล่นไหม ก็ใช่ เราไม่มีคำถามกับสิ่งนี้ กับปัจจุบันในมุมของโปรโมเตอร์เอง สแตทก็มีส่วนสำคัญ ถ้าไปลองเช็กสแตทของ Three Man Down ใน South East Asia ก็ถือว่าโหดเมื่อเทียบกับวงอื่น ๆ ในกลุ่มที่เราคิดว่า deserved เหมือนกัน เอาจริงผมว่าวงไทยมีศักยภาพเยอะมาก

ได้ยินมาว่า ค่ายต่างประเทศมองว่าถ้าวงถูกประทับตราว่าเป็นวงจากประเทศไทย อาจทำให้ขายไปในตลาดโลกได้ยาก คิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง

เติ้ล: ทำไม Paradise Bangkok Molam International Band ก้าวข้ามตรงนี้ไปได้ เราว่ามันคือการที่เราทำ product ให้ดี เป็นแนวคิดเดียวกับการทำแบรนด์ไทยให้ไประดับโลก (The COSMOS: คิดว่าส่วนนึงอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารค่ายนั้นด้วยหรือเปล่า) เป็นไปได้ สุดท้ายแล้วเราว่าถ้ามองในมุมอุตสาหกรรม ดนตรีมันก็คือ product นึง คือ branding การที่บอกว่าของเราเป็นประเทศโลกที่สาม เราว่ามันอาจจะยังจับจุดไม่ได้ว่าทำไมฝรั่งถึงชอบกินแกงเขียวหวาน ทำไมถึงชอบความเป็นไทย นั่นแหละ ถ้าเราทำ product ถูกต้องมันก็ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ถ้าเราเหมือนเขาแต่เราด้อยกว่า ยังไงเราก็สู้เขาไม่ได้ ไม่ใช่แค่นอกประเทศ ในประเทศก็เหมือนกัน เราเห็นเคสนึง เราชอบวงอังกฤษที่ชื่อ Dead Sons มาก อยู่เชฟฟีลด์ แล้วเพลงออกมาเหมือน Arctic Monkeys เลย เราชอบกว่าอีก แล้วอยู่ดี ๆ ก็หายไป มาเจออีกที ถ้าจำไม่ผิดนักร้องมาเป็นแบ็กอัปที่ร้องกับเล่นกีตาร์ให้ Alex Turner สุดท้าย ไปยังไงก็ไปไม่สุดเพราะมี Arctic Monkeys อยู่

เบ็น: อย่างที่บอกว่าตอนนี้กำแพงทางภาษามันไม่ใช่ประเด็นหลักแล้วแหละ ด้วยดนตรีทุกอย่างมันผสม ๆ กัน เรามีแฟนเพลงเป็นคนฝรั่งเศส เขาก็อินมาก ๆ (เติ้ล: เขาบินมาดูที่ Crow Night กับ ฟังใจจัด เนี่ย) โดยที่เขาก็ไปหาการแปลของเขาเองก็มี มันไม่ใช่อุปสรรคแล้ว การที่ทำเพลงภาษาไทยไม่ได้แปลว่าเราไปเมืองนอกไม่ได้

เติ้ล: ทำไมเราร้องเพลงเกาหลีกันได้โดยที่ไม่ติดว่า ‘นี่เขาร้องภาษาอะไรกัน’ อะ วันไหนที่เราถูกพุชไปทั้งวงการได้แล้ว ผมว่าภาษามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ละ อย่างตอนทำ S.O.L.E. มันเห็นได้ชัดเลยว่ามึงไม่ต้องร้องเพลงกูก็ได้ค่า มึงแค่มาเต้น รู้สึกว่าดนตรีมันไม่มีพรมแดน

แบงค์: ผมว่าพอยต์ไม่ใช่ภาษา ส่วนตัวรู้สึกว่ากลับกันถ้าสมมติเราเป็นคนไทย แล้วเรากลับไปทำเนื้อภาษาอื่น แล้วสุดท้ายเราไม่ได้เข้าใจมันจริง ๆ มันไม่สื่อสิ่งนั้น native ของภาษานั้น ๆ ถ้ามาฟัง เขาก็ไม่น่าจะฟีลเท่าไหร่ สู้ทำอะไรที่เราฟีลกับมันมากกว่า เขาอาจจะรู้สึกในพาร์ตอื่นแล้วช่างแม่งในเนื้อร้องไปเลย

เบ็น: ส่วนตัวเราว่าเพลงภาษาอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษ ถ้าไปเจอในออนไลน์หรือต่าง ๆ ที่เป็นสตรีมมิง แว้บแรกเลยจริง ๆ เราจะรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะฟังรู้เรื่องมั้ย แต่พอเข้าไปฟังแล้ว ถ้ารู้สึกว่าดนตรีเขาถูกจริตของเราจริง ๆ ก็อินได้ คือถ้ามันเป็นภาษาอังกฤษมันก็ง่ายขึ้นแหละ พอทำให้เป็น universal ก็เหมือนเป็นทางผ่านนิดนึงที่เขาจะเข้ามาเจอเพลงของเรา อาจจะมีผลในการเสิร์ช แฮชแท็ก

อ๋อง: รู้สึกว่าถ้าดนตรีมันใช่เราก็เอาแล้ว

แบงค์: ไปฟังวงจีนที่ Clockenflap ก็ดี ถึงไม่เข้าใจ แต่มันฟีลก็พอแล้ว

แล้ววงมีเป้าหมายจะไปต่างประเทศบ้างไหม

เติ้ล: แน่นอนครับ นี่คือสาเหตุที่วงเราทำเพลงภาษาอังกฤษกันแต่แรก (The COSMOS: แต่ตอนนี้กลับมาทำเพลงไทย?) เพลงผมทุกเพลงมีเนื้อภาษาอังกฤษนะ เดโม่เป็นอังกฤษมาก่อน ความยากก็คือต้องมานั่งแปล เขียนใหม่ให้ร้องลงเมโลดี้เดิม มันร้องแทบไม่ต่างกันเลย

มีสเตตัสของบุคคลท่านหนึ่งที่กำลังเป็นที่โจษจันกันมากว่า ‘“อีกี้”เพลงดังข้ามคืน-ถามว่าดีไหม-ผมตอบทันทีเลยว่าไม่รู้-แต่การได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วพอจะบ่งบอกอธิบายได้ถึงคุณภาพคนฟังส่วนใหญ่ในบ้านเราได้เป็นอย่างดี–และถ้ามีศิลปินรายอื่นเห่ทำตามกันเยอะๆ-วงการเพลงไทยก็ถึงจุดที่น่าเป็นห่วงเป็นใยอีกครั้งหนึ่ง.’ วงมีความคิดเห็นอย่างไร

เบ็น: ผมว่าเรื่องเทสต์มันละเอียดอ่อนมาก เพราะสุดท้ายสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือความชอบของคน ก็ต้องมองผลลัพธ์ตรงนั้นอยู่ดี พอมองย้อนกลับไปถึง global product บางที่ตลาดไทยเป็นตลาดนึง แต่พอมันไปเป็นตลาดโลกแล้ว คุณต้องพิจารณาแล้วว่า เพลงของคุณที่ทำงานกับตลาดนี้ได้ดี มันจะทำงานดีกับตลาดอื่นด้วยหรือเปล่า เหมือนเป็นการที่เราค่อย ๆ ชั่งน้ำหนักไปเรื่อย ๆ ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนได้บ้าง เพราะสุดท้ายคนจะมองว่ามันมีปริมาณเท่าไหร่ที่อินกับผลผลิตนี้ ถ้าจะบอกว่าคุณภาพดีกว่าหรือไม่ดี มันก็พูดยาก แล้วยิ่งพวกเราเอง เราก็ต้องยอมรับว่าเคยชินกับความเป็นประเทศกรุงเทพ ฯ มานานแล้ว เคยชินกับซีนดนตรีแบบนี้ พอเจอซีนที่หลุดจากสิ่งที่เราคุ้นชินเราอาจจะไม่ชอบ ไม่ถูกจริต ทั้งที่จริง ๆ แล้วอีกกี่จังหวัดไม่รู้ในประเทศไทยเขาชอบแบบนั้นกันเยอะมาก มันก็พูดยาก

อ๋อง: สุดท้ายมันก็แค่ชอบไม่ชอบเลย

เติ้ล: มันเป็นเรื่องความชอบล้วน ๆ เลยเหมือนคนทะเลาะกันว่าข้าวมันไก่ร้านไหนอร่อยสุด แล้วถามต่อว่ามันเป็นภัยต่อสังคมการฟังเพลงไหม ไม่เลย เราว่า YOUNGOHM อัลบั้มนี้ educate คนฟังประมาณนึงเลย เราชอบที่ว่าคนที่มีพลังในการทำอะไรสักอย่าง เริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา มันคือความเจริญซะด้วยซ้ำในวงการเรา สุดท้ายมันก็เรื่องรสนิยม คนที่พูดเรื่องนี้เขาอาจจะไม่ชอบเพลง เราก็ไม่ได้ว่าอะไร อย่างเราเป็นคนชอบกินผัดกะเพราใส่ข้าวโพดอ่อน… เชี่ยไม่เคยบอกวงมาก่อนเลยนะเนี่ย โดน judge เลย (อ๋อง: ไล่ออก)

เบ็น: ผมว่าทุกคนมี bias ของตัวเอง มีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ มันห้ามไม่ได้หรอกสิ่งสิ่งนี้ แต่เราต้องเข้าใจถึงบริบทของมันจริง ๆ ด้วยเมื่อถอยออกมามองแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งนั้นมันตอบโจทย์ในแง่ของตลาดได้มากกว่า ถ้าตลาดชอบเขาก็ขายได้มากกว่า เขาไปได้ของเขาอยู่แล้ว

เติ้ล: สมแล้วที่ทำงานมาร์เก็ตติงเอเจนซี่

งั้นอะไรที่เป็นเรื่องน่าห่วงมากกว่าเรื่องนี้

เติ้ล: รัฐบาลประเทศเราไม่เคยซัพพอร์ตอะไรแบบนี้เลย (The COSMOS: พูดมาเป็นสิบปีแล้ว!) เออมันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อแหละ เราเคยได้ยินเรื่องที่ว่า ถ้าตราบใดที่คุณไม่ได้เล่นโขนหรือตีระนาด คุณจะไม่ถูกส่งออกว่าเป็นวัฒนธรรมดนตรีจากไทยหรอก ตอนนี้ถามว่ามีคนซัพพอร์ตไหม มันมีแต่ก็น้อย ไม่ได้ถูกพุชให้เรื่องนี้สำคัญ ทั้งที่เราก็เห็นแล้วว่ามันสร้างรายได้ให้กับประเทศจริง ๆ อุตสาหกรรมดนตรีของไทยมีอะไรที่น่าซัพพอร์ตเยอะมาก แล้วมันก็ยังไม่ถูกทรีตเป็นอาชีพหรืออะไรที่สามารถกรอกลงไปในใบได้ว่าคุณเป็นนักดนตรี เป็นอาชีพที่มั่นคง ผมว่าเรื่องนี้น่าเป็นห่วง ดังนั้น 14 พฤษภาคมนี้ ไปใช้สิทธิ์ครับ

แบงค์ The Whitest Crow

อัลบั้มจะออกเมื่อไหร่

อ๋อง: น่าจะพฤศจิกา ไตรมาส 4

เติ้ล: พูดจาเหมือนเอเจนซี่ (หัวเราะ) ทายไหมว่าเพลงหน้าจะออกมาแนวไหน? (The COSMOS: เร็กเกตอนมะ? จริง ๆ วงก็ปล่อยใจฝันกันมาตั้งแต่แรก จนตอนนี้ไม่ติดแล้วว่าวงจะทำเพลงแนวไหนออกมา ทำมาเหอะ รอฟังแน่นอน) ก็ลองไปเรื่อย ๆ แหละ น่าจะไปไกลกว่านี้ น่าจะฉุดไม่อยู่ ประเด็นคือพี่อ๊อฟ Big Ass แกก็บ้าจี้นะ ‘เอาเพลงนี้เลย ๆ ชอบ’ ตอนแรกแกเฉย ๆ ไม่ได้ทัชขนาดนั้น แต่พอเอาไปเล่น School Tour แล้วพี่กบ ผู้ใหญ่มาดู ทำไมคนดูเอาวะ เพลงนี้ไม่เคยฟัง เอาไปเล่นครั้งแรกทุกที่ ๆ เล่นไปเรื่อย ๆ เขาก็เชียร์เลย เราก็แบบ ‘เอาจริงนะพี่ ผมไม่ลดระดับแล้วนะ จะไปอย่างงี้เรื่อย ๆ’ …ทำอัลบั้มรวมฮิต (หัวเราะ)

เบ็น: แล้วแต่ว่าถูกใจเดโม่อันไหนในตอนนั้น ถ้าพูดแบบการทำงานปกติ ถ้าเจออันไหนที่ทัชก็จะแบบ ‘เอ้ย อันนี้แหละ’ เราไม่ได้คุยกันว่าจะทำเพลงช้าหรือเพลงเร็วอะไร บางทีมันก็แล้วแต่ช่วง

เติ้ล: แต่ส่วนใหญ่เพลงที่คลิกก็จะเป็นเพลงที่ใช้เวลาทำเดโม่วันเดียว 2-3 ชั่วโมง ได้เพลงมาแล้ว แล้วแบบ ‘เชี่ย อันนี้โดนเส้นแน่ ๆ’

โชว์ต่อไปจะมีเมื่อไหร่

เติ้ล: เนี่ย จะมีปาร์ตี้เปิดตัวซิงเกิ้ลปล่อยใจฝัน (หัวเราะ) เดี๋ยวมาชวน รอสรุปนู่นนี่ก่อน พอเราตั้งเป้าว่าจะทำอัลบั้ม ก็จะมีทีมงานต่าง ๆ นานามากมายในค่ายมาช่วยกันซัพพอร์ต ทีมมาร์เก็ตติงเองก็มาวางแผนว่าทำยังไงถึงจะสนุก ออกมาตอบโจทย์กับคนฟังทุกคน

ฝากผลงาน

เติ้ล: ไปฟังเพลงของเรา ’หวานเป็นลม ขมเป็นบ้า’ ดู mv ได้นะครับ ใน YouTube Genierock หรือจะฟังในสตรีมมิงกันได้สะดวกสบาย ก็พยายามจะทำอะไรที่สนุก เราเอ็นจอยกับการที่เราเจอเพลงใหม่ของวงที่ชอบแล้วรู้สึกว่า ‘เฮ้ย วงนี้ปล่อยเพลงใหม่ ออกมาจะเป็นไงวะ’ เราชอบความรู้สึกนั้น ก็อยากแชร์อะไรแบบนี้ให้กับคนฟังเหมือนกันแหละ ฝากด้วยครับ

The Whitest Crow

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าการเป็นศิลปินอิสระ หรือมีต้นสังกัด จะค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก ค่าย D.I.Y. มันเป็นทั้งมายาคติและอคติ แต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน ไม่มีสูตรตายตัว อยู่ที่ความสมัครใจของศิลปินและผู้บริหารที่ถ้าเห็นภาพตรงกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีภาพจำว่าศิลปินตึกนี้ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เพราะแทบจะหมดยุคโปรดิวเซอร์ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์กันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ The Whitest Crow ได้ปล่อยซิงเกิ้ลล่าสุด ‘หวานเป็นลม ขมเป็นบ้า’ ออกมาให้เราได้ฟังในสไตล์ที่เรายังคาดไม่ถึงขนาดนี้ ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าผู้ใหญ่เองก็ใจเด็ดและมีวิสัยทัศน์กว้างพอที่จะปล่อยให้พวกเขาเป็นกาตัวที่ขาวที่สุดในฝูง และเราเชื่อว่ากาตัวนี้จะบินได้สูงกว่านี้อีก

ติดตามข่าวสารของวง The Whitest Crow ได้ที่ Facebook และ Instagram